กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพอะไรบ้าง จากปัญหา “กากแคดเมียม” และ “แอมโมเนียรั่ว”  พร้อมคำแนะนำประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ และข้อควรระวัง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน  ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากกากแคดเมียม และการรั่วไหลของแอมโมเนีย

อันตรายสารแคดเมียม

โดยนพ.วีรวัฒน์ กล่าวถึงสารแคดเมียม ว่า  กากแคดเมียม เป็นธาตุโลหะหนักที่มีสีเงินแกมขาว มีคุณสมบัติเบา อ่อน ดัดโค้งได้ง่าย และทนต่อการกัดกร่อน พบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง โดยในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย และอาจพบแร่แคดเมียมได้ในพื้นที่ขุดเหมือง และยังสามารถพบกากแร่แคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร โดยอันตรายจากแคดเมียมเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง  

โดยแบบเฉียบพลัน  ถ้าสัมผัสมากๆ กินเข้าไปคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง หายใจเข้าไประคายของทางเดินหายใจ เจ็บคอ ระคายคอ หายใจขัดลำบาก  และหากเข้ากระแสเลือดไปที่ไตได้ ส่วนระยะเรื้อรัง คือสัมผัสเรื่อยๆ เกิดโรคปอดอักเสบ ระบบทางหายใจอักเสบนานๆ เกิดพังผืดขึ้น การขยายตัวของปอดน้อยลง คล้ายคนสูบบุหรี่ จะหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ไปสะสมที่ไต เกิดไตวายเรื้อรัง ส่วนกระดูก ทำให้กระดูกบางและพรุนได้ ระยะเรื้อรังมี 3 อวัยวะ เกิดปอดอักเสบเรื้อรัง ไตอักเสบ ไตวายเรื้อรัง กระดูกบางกระดูกพรุน

ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับประชาชน ในกรณีที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีกากแคดเมียม ควรงดเข้าพื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด จัดสภาพแวดล้อมในที่พักอาศัยโดยการทำความสะอาดพื้นที่ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ หรือเครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำบริเวณพื้นที่เสี่ยง หากมีการสูดดมเข้าไปให้รีบไปอยู่ในพื้นที่   โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ สังเกตอาการตัวเองหากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยแจ้งความเสี่ยงทันที

แอมโมเนียรั่ว ส่งผลสุขภาพอย่างไร

ด้าน พญ.จุไร กล่าวว่า  แอมโมเนีย กรณีพบสารแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง สารแอมโมเนียที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด โดยแอมโมเนียมีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูง จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับประชาชน ดังนี้ 1.ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที  2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด  3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที  4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาล 5.ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที