สรุปแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 ปรับเปลี่ยน-เพิ่มเติมเนื้อหา ให้การรักษาและควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันเบาหวาน 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน” โดยศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี ได้แนะนำแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 

ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหา โดยหวังว่า แนวทางที่เกิดขึ้น จะนำมาสู่แนวนโยบายการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ให้การรักษาและควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการป้องกันเบาหวาน 

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 ปรับปรุงจากแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน ฉบับปี พ.ศ. 2560 และมีเนื้อหาเพิ่มเติมใหม่ ได้แก่

1.พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อป้องกันและควบคุมเบาหวาน และการสร้างเสริมสุขภาพ

2.การดูแลรักษาโดยปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เข้าสู่โรคเบาหวานระยะสงบ 

3.การวินิจฉัย ประเมิน รักษาและป้องกันภาวะฉุกเฉินของระดับน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน 

4.การให้คำปรึกษา สร้างแรงจูงใจ แรงผลักดันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน 

5.ภาวะก่อนเบาหวาน 

สำหรับตัวอย่างเนื้อหาที่ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมในแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 

บทที่ 2 การประเมินความเสี่ยง แนวทางการคัดกรอง การวินิจฉัยโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ และการประเมินทางคลินิกเมื่อแรกวินิจฉัย

การประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานโดยใช้ Thai Diabetes Risk Score แบบใหม่ ซึ่งใช้ข้อมูลจากผลการศึกษาการสำรวจสุขภาพคนไทยทั่วประเทศ มีความแม่นยำในการพยากรณ์ความเสี่ยง โดยอาจใช้หรือไม่ใช้ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร (FPG) ร่วมด้วย และแนะนำให้พิจารณาให้ทำ Oral Glucose Tolerance Test ในรายที่มีความเสี่ยงสูง และเป็น Prediabetes ที่มีค่า FPG อยู่ในช่วง 110-125 มก./ดล. จะทำให้ตรวจพบผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น 

ปรับคำแนะนำให้ใช้ระดับ A1C ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ โดยค่าดังกล่าวจะต้องเป็นผลตรวจจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับชาติ ผ่านการรับรองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำ Standardization ให้ ซึ่งห้องปฎิบัติการนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขอการรับรองการตรวจ A1C ตาม National Glycohemoglobin Standardization Program (NGSP) จากต่างประเทศ

บทที่ 3 เป้าหมายการรักษา การติดตาม การประเมินผลการรักษา และการส่งปรึกษา

เป้าหมายของระดับ แอล ดี แอล คอเลสเตอรอล มีการปรับให้ควบคุมเข้มงวดขึ้น โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มตามอายุและความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย ควรควบคุมให้ระดับน้อยกว่า 55 มก./ดล. และลดลงจากเดิมก่อนการรักษา มากกว่าหรือเท่ากับ 50% นอกจากนี้ เป้าหมายความดันโลหิตมีการปรับเป็น 130/80 มม.ปรอท

บทที่ 4 การให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง

เพิ่มความสำคัญของความต้องการและทัศนคติของผู้เรียน (Person-Centered need and attitude) ในส่วนผลลัพธ์ของการให้ความรู้และสร้างทักษะ เพิ่มการลดการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุด้วย มีข้อมูลว่าการให้ความรู้โรคเบาหวานโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ผลลัพธ์ในการดูแลโรคเบาหวานดีกว่าวิธีปกติ การใช้ CGM มีประโยชน์ในการประเมินเป้าหมายและติดตามการรักษาโรคเบาหวาน 

ในส่วนโรคที่พบร่วมกับเบาหวานมีการเพิ่มโรคตับคั่งไขมัน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนของการดูแลสุขภาพทั่วไป เพิ่มการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนบางตัวที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงอายุควรได้รับ เช่น วัคซีนปอดอักเสบ วัคซีนงูสวัด สำหรับสื่อในการให้ความรู้และเทคโนโลยีดิจิตอลมีการปรับให้ทันสมัยในยุคปัจจุบัน

บทที่ 5 พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อป้องกันและควบคุมเบาหวานและการสร้างเสริมสุขภาพ

บทนี้เดิมใช้ชื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต ได้เขียนขึ้นใหม่โดยรวบรวมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ดีทุกด้าน รวมทั้งการรับประทานอาหาร กิจกรรมทางกาย การนอน การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่น ตลอดจนการดูแลสุขภาพทางจิตใจ ซึ่งใช้สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพในคนที่ยังไม่เป็นเบาหวานด้วย

บทที่ 6 การดูแลรักษาโดยปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้เข้าสู่โรคเบาหวานระยะสงบ

เป็นบทใหม่ แนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เน้นการควบคุมอาหาร และการเพิ่มกิจกรรมทางกายอย่างเคร่งครัด ยึดการลดน้ำหนักตัวเป็นเป้าหมาย และติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง โดยมีผู้ให้การรักษาให้คำแนะนำและติดตามใกล้ชิด 

โรคเบาหวานระยะสงบ คือ ระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 126 มก./ดล. และระดับ A1C ต่ำกว่า 6.5% 

บทที่ 7 การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ใหญ่

เพิ่มยาในกลุ่ม SGLT2 inhibitors หรือ GLP-1 analog เป็นยาทางเลือด โดยใช้เป็นยาตัวแรกในกรณีไม่สามารถใช้ยา Metformin ได้ 

มีการปรับเกณฑ์แนะนำการใช้ยากลุ่ม SGLT2 inhibitors และ GLP-1 analog ในกรณีไม่มีปัญหาค่าใช้จ่าย โดยเพิ่มข้อบ่งชี้การใช้ยา SGLT2 inhibitors หรือ GLP-1 analog ในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย > 30 กก./ตร.ม. และพิจารณาใช้ยา SGLT2 inhibitors ในผู้ที่มีโรคไตเรื้อรังที่มี eGFR < 60 มล./นาที/1.73 ตร.ม. และ/หรือ อัลบูมินในปัสสาวะ > 200 มก./ก.

บทที่ 11 การวินิจฉัย ประเมิน รักษาและป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานผู้ใหญ่

มีการเพิ่มการป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดโดยการใช้ Continuous Glucose Monitoring (CGM) ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยอินซูลิน ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้ง หรือมีภาวะ Hypoglycemia Unawareness
 

อ่านเพิ่มเติม: แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566