จ.สิงห์บุรี เผย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเฟส 2 พบ “นวัตกรรมหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” ร่วมบริการกว่า 1,312 แห่ง ชี้ช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ เพิ่มความสะดวกเข้าถึงบริการสุขภาพ ช่วยลดภาระงาน รพ.ได้
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพญ.วังจันทร์ กิตติภาดากุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี (สสจ.สิงห์บุรี) และคณะ ลงพื้นที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามการให้บริการของ “นวัตกรรมหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ภายใต้โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2” ที่คลินิกทันตกรรมโปรัตน์ และ นภาพรคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คลินิกทันตกรรม และคลินิกการพยาบาลฯ เป็นส่วนหนึ่งใน 7 นวัตกรรมหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ สปสช. เชิญชวนสถานพยาบาลเอกชนมาร่วมให้บริการในระบบบัตรทองกับ สปสช. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ลดการรอคอยตรวจรักษา รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งภาพรวมของการให้บริการนับว่าถือเป็นทิศทางที่ดีมาก จากรายงานของ สปสช. พบว่ามีแนวโน้มที่หน่วยนวัตกรรมบริการฯ จะมาเข้าร่วมในระบบเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนเองก็มีการรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมบริการฯ เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยคลินิกการพยาบาลฯ มีประชาชนมารับบริการมากที่สุดจำนวน 8 แสนครั้ง จากคลินิกการพยาบาลฯ จำนวน 1,312 แห่งที่มาร่วมให้บริการ
ส่วนคลินิกทันตกรรมที่สมัครร่วมใน 2 เฟส มีจำนวน 69 แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการประมาณ 5,000 คน และคิดเป็นจำนวนการรับบริการมากกว่า 8,000 ครั้ง แม้ตัวเลขการรับบริการอาจจะไม่มาก เพราะการให้บริการสุขภาพช่องปากต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 30 นาทีต่อผู้ป่วย 1 ราย แต่การบริการที่เกิดขึ้นก็มีนัยสำคัญของการแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน
“ขณะนี้มีหน่วยบริการหลายแห่งสนใจสมัครเข้าร่วมให้บริการ แต่ยังรู้สึกกังวลเรื่องทำข้อมูลเบิกจ่ายอยู่ อย่างไรก็ตาม สปสช. จะพยายามออกแบบการใช้งานที่สะดวกและเอื้อต่อหน่วยบริการให้มากที่สุด ซึ่งหน่วยบริการภาคเอกชนที่เข้ามาใหม่อาจไม่คุ้นชินและมีข้อเสนอที่ให้ สปสช. พัฒนา ซึ่งก็ยินดีที่จะรับข้อเสนอเล่านี้มาพัฒนาต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทพญ.วังจันทร์ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมของระบบต่างๆ เพื่อร้องรับ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วย Health ID ในระบบหมอพร้อม เพื่อให้สามารถรับบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้หน่วยบริการเชื่อมเป็นภาพเดียวกันทั้งหมด โดยตอนนี้สำเร็จแล้วกว่า 50% นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลกับหน่วยบริการภาคเอกชน สร้างความมั่นใจในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ อย่างที่ อ.อินทร์บุรี มีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วมครบทุกแห่ง 100% ส่วนหน่วยบริการภาคเอกชนอื่นๆ ตอนนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจ เพราะอาจกังวลเรื่องระบบข้อมูลและเบิกจ่าย ซึ่งหลังจากนี้ทาง สสจ.สิงห์บุรี จะติดตามอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากทำให้หน่วยนวัตกรรมบริการมาเข้าร่วมให้บริการครบทั้งหมด ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์
ทพ.โปรัตน์ อยู่ไทย คลินิกทันตกรรมโปรัตน์ เปิดเผยว่า จากการร่วมให้บริการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟส 2 กว่า 1 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนมารับบริการที่คลินิกฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 รู้สึกพึงพอใจค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วยให้ประชาชนรับบริการได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอนาน จากเดิมที่ต้องไปที่โรงพยาบาล บางคนเป็นห่วงเรื่องคิวบริการไปรอตั้งแต่ตี 3 – 4 ขณะเดียวกันยังเป็นการแบ่งเบาภาระทันตแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ด้วย นอกจากนี้ที่สำคัญ คือในจำนวนผู้ที่มารับบริการที่เพิ่มขึ้นนี้มีผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองที่ไม่เคยไปรับบริการทันตกรรมที่หน่วยบริการเลยซักครั้งในชีวิต ด้วยข้อจำกัดบางอย่างทำให้เลือกไม่ไปรับบริการหรือเข้าไม่ถึงบริการ แต่มารับบริการที่คลินิกฯ เป็นครั้งแรก จึงกล่าวได้ว่าหากไม่มีนโยบายในลักษณะนี้ จะมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้บริการทันตกรรมเลยตลอดชีวิต ทั้งที่สุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง
“จากการร่วมให้บริการตามนโยบาย ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องขั้นตอนการเบิกจ่าย ด้วยที่ไม่คุ้นกับการส่งเบิกในระบบ เลยเป็นปัญหาล่าช้าไปบ้าง แต่คาดว่าเมื่อคุ้นเคยแล้วน่าจะไหลลื่นมากขึ้น ขณะที่ สปสช. ก็คอยอัพเดทและติดตามอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามคิดว่าถ้า สปสช. ทำให้กระบวนการตั้งแต่ลงทะเบียนร่วมเป็นหน่วยบริการ ไปจนถึงการเบิกจ่ายที่กระชับมากขึ้นเชื่อว่าคลินิกต่างๆ จะมาเข้าร่วมกันมากกว่านี้” ทพ.โปรัตน์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.นภาพร สอาดดิษฐ์ พยาบาลวิชาชีพ นภาพรคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมให้บริการ ค่อนข้างพอใจ แม้ว่าก่อนเข้าร่วมจะมีความกังวลและไม่มั่นใจว่า คลินิกจะมีศักยภาพพอที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพื้นที่ให้บริการได้ เพราะนอกจากขั้นตอนการสมัครร่วมเป็นหน่วยบริการ ยังต้องทำความเข้าใจระบบเบิกจ่ายของ สปสช. อีก แต่พอทำจริงๆ กระบวนการต่างๆ ก็ไม่ได้ยากเหมือนที่คิด อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนมารับบริการได้สะดวกขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนสิทธิบัตรทองในชุมชนและจากตำบลใกล้เคียงมารับการรักษาโรคเบื้องต้น ทำแผล เปลี่ยนสายอาหาร ฯลฯ ที่คลินิกฯ แล้ว 90 คน หรือ 130 ครั้ง
- 199 views