ท่ามกลางชุมชนที่เต็มไปด้วยเด็กและผู้สูงอายุที่มีมากกว่าคนหนุ่มสาววัยทำงาน และความที่เป็นชุมชนเมืองเรื่องภาวะเด็กอ้วนจึงได้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่ในพื้นที่ต้องหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว
พ.อ.สมบัติ ระรวยทรง
พ.อ.สมบัติ ระรวยทรง อสม.ชุมชนวัดสังฆราชาวาส บ้านเบิก ต.บางบัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี วัย 61 ปี ใช้ชีวิตหลังเกษียณเป็น อสม.ให้กับชุมชนวัดสังฆราชาวาส โดยที่ก่อนหน้านี้ภรรยาคู่ชีวิตก็ได้ทำหน้าที่ อสม.มาก่อนแล้ว
พ.อ.สมบัติ กล่าวว่า จังหวัดสิงห์บุรีขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีเด็กอ้วนมากที่สุด ขณะเดียวกันที่ชุมชนมีผู้สูงอายุมากขึ้น 600 คน งานของ อสม.ที่นี่จึงมุ่งเน้นไปที่ปัญหาด้านสุขภาพของของ 2 วัยนี้ ปัจจุบัน อสม.ที่มีอยู่ทั้งหมด 60 คน อสม. 1 คน จะดูแลชุมชนประมาณ 10-15 หลังเรือน โดยได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จาก โรงพยาบาลสิงห์บุรี
“เราอยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี จึงเริ่มจากที่เด็กนักเรียนก่อน เพราะเด็กนักเรียนที่โรงเรียนวัดสังฆราชาวาส ส่วนมากมีปัญหาเรื่องภาวะโภชนาการเกิน หรือมีเด็กอ้วนมาก ทาง อสม.ได้ร่วมกับโรงเรียนจัดกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง 13 ฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เป็นต้น ผลผลิตที่ได้นำมาแปรรูปเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียน ส่วนที่เหลือนำออกจำหน่ายให้กับชาวบ้านในราคาที่ไม่แพง และผลผลิตที่ได้เป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษ ส่งผลให้ผู้บริโภคในชุมชนมีสุขภาพที่ดี”
ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ กิจกรรมการขายขยะ เราจะสอนให้เด็กรู้จักหารายได้นอกจากการขายผลผลิตในโรงเรียนแล้ว โรงเรียนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนำขยะมาจากที่บ้านมาขายให้กับทางโรงเรียน เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้กับนักเรียนได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการสร้างแนวคิดให้เขารู้ว่า ขยะเป็นของที่ไร้ค่าแต่สามารถทำเงินให้กับเราได้ และขยะเป็นการช่วยลดจำนวนปริมาณขยะในชุมชนได้อีกหนึ่งด้วย
ข้อดีจากการแยกขยะ ทำให้เทศบาลสามารถจัดเก็บขยะได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่เฉลี่ยคน 1 คนจะสร้างขยะได้ถึง 1 ก.ก./วัน พอหลังจากมีการคัดแยกสามารถลดปริมาณขยะต่อคนต่อวันได้ถึง 20 % พร้อมกันนี้ทาง อสม.ได้สร้างวัฒนธรรมหน้าบ้านสะอาด เพียงแค่ทุกคนทำความสะอาดหน้าบ้านของตนเองเท่านั้น ชุมชนจะสะอาดมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องจากคนมากวาดถนนในชุมชน ทำให้ชุมชนน่ามองและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีมีการจัดประชุมชาวบ้านในชุมชนเป็นประจำ เพื่อให้คนในชุมชมได้นำปัญหาหรือข้อข้องใจของตนเองมาบอกกล่าวให้กับคระทำงาน เพื่อให้ได้รับทราบถึงปัญหาชองชุมชน และยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำ เช่น การออกกำลังกาย การทำถังขยะจากขวดน้ำอัดลมที่ไม่สามารถขายได้ เป็นต้น
การทำงานของ อสม.ในวันนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก เทศบาล เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาทต่อปี และเงินอุดหนุนช่วย อสม. 7,500 บาทต่อปี ถามว่า เงินตรงนี้เพียงพอต่อการบริหารจัดการดำเนินงานหรือไม่ พ.อ.สมบัติ บอกว่า ไม่พอหรอก แต่ที่มาทำงาน อสม.นี้ เพราะทำด้วยใจ บางครั้งต้องควักเงินตัวเอง แต่เพื่อให้ชุมชนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็ต้องยอม แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนมาคือ ความภูมิใจที่เห็นคนในชุมชนตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ
สิ่งที่ พ.อ.สมบัติกล่าวนั้นสอดคล้องกับปรัชญาในการทำงานของเขาที่ว่า “จะไม่เอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้างในการทำงาน แต่จะเอาความขาดแคลนมาตั้งเป็นตัวทำงาน”
แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาของชุมชนที่ต้องรอรับการแก้ไขจากผู้ใหญ่ในพื้นที่คือ ปัญหายาเสพติด พ.อ.สมบัติ กล่าวว่า บางครอบครัวที่มีลูกหลานเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะทำการปกป้องลูกหลายของตนเอง ไม่พูดความจริง ในทางกลับกัน อสม.ไม่สามารถเข้าไปกับเรื่องยาเสพติดได้อย่างจริงจัง เพราะอาจจะนำมาซึ่งภัยร้ายต่อตนเองและครอบครัวได้ จึงต้องฝากให้เรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูปัญหายาเสพติดในพื้นที่นี้อย่างจริงจังเสียที
ปัจจุบันฐานการเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนวัดสังฆราชาวาส และชุมชนได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไป ด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย และยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย
- 83 views