สปสช.จับมือ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลง ใช้ข้อมูลการเบิกจ่ายเพื่อการวิจัยและเสนอแนะเชิงนโยบายในอนาคต
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านระบบสุขภาพไทยและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นตัวแทนหน่วยงานในการลงนามครั้งนี้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ความร่วมมือ สปสช. กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนในครั้งนี้ จะเป็นช่องทางการนำข้อมูลขนาดใหญ่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นข้อมูลสุขภาพประเทศมาศึกษาวิจัยเพื่อตอบโจทย์ทางด้านนโยบายหลายๆ อย่าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ปกติ สปสช. ใช้ในการเบิกจ่าย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเบิกจ่ายแล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางวิชาการได้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาในการนำมาวิเคราะห์หรือทำวิจัย แล้วให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เชื่อว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการอีกแห่งหนึ่ง คือสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยต่อไป
"การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบของ สปสช. ทำได้หลายแง่มุม เช่น อาจเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าสุภาพสตรีซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังมีจุดไหนที่ยังมีจุดบกพร่อง หรือยังมีโอกาสในการพัฒนาการเข้าถึงบริการได้มากขึ้นอีก ส่วนโรคต่างๆ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง มีการผ่าตัดแล้วมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็น feedback ทั้งในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษา การฟื้นฟู เพื่อให้นำมาปรับเปลี่ยนนโยบายในอนาคตต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ และสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีความพร้อมในการศึกษา วิจัย และการใช้ข้อมูลต่างๆ มาประมวลให้เกิดประโยชน์ในลักษณะของการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันกับ สปสช. ที่มีข้อมูลการเบิกจ่ายมากมาย ทางสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนจะได้ช่วยสนับสนุนการนำข้อมูลมาศึกษาในประเด็นต่างๆ เช่น โรคอะไรที่จะเป็นประเด็นในปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายสูง โรคอะไรที่สามารถทำให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างกว้างขวางและเกิดประโยชน์สูงสุด การใช้งบประมาณแผ่นดินจะเกิดประสิทธิภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร ระบบหลักประกันสุขภาพมีประเด็นที่ต้องพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่อไปอย่างไร ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ตนเชื่อว่าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนมีความพร้อม
สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาการด้านระบบสุขภาพ ประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองฝ่าย พัฒนาวิชาการ การวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนนโยบายระบบสุขภาพไทย และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ โดยทางมหาวิทยาลัยมหิดลจะทำหน้าที่รวบรวมพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนนโยบายระบบสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมให้บุคลากรของทั้งสองฝ่ายได้รับการพัฒนาโดยการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุน ผลักดัน และเผยแพร่ให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ
ขณะที่ สปสช. จะสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงระบบการเข้าใช้ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ภายในขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด การสนับสนุนวิทยากรมีความรอบรู้ทางวิชาการหรือประสบการณ์ที่เหมาะสมในการถ่ายทอดเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบาย การแสวงหาและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง และการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง
- 150 views