"ศุภมาส" เร่งจัดทำมาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย มอบหมาย กรมวิทย์บริการ ประสานความร่วมมือกับนักวิจัยไทยในการจัดทำมาตรฐาน เผยผลักดันงานวิจัย “แผ่นยางสำหรับผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล” สำเร็จ! ผลิตได้เองในประเทศ พร้อมใช้งานโรงพยาบาลทั่วประเทศ
วันที่ 18 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาของงานวิจัยไทยในปัจจุบัน แม้มีจำนวนมากแต่ไม่สามารถผลักดันการใช้งานจริงเท่าที่ควร เนื่องจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานหรือเกณฑ์การรับรองคุณภาพมาอ้างอิง ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริง และไม่สามารถถูกนำไปผลิตขายได้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ตนได้เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อที่จะรับรองและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ได้ โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานระดับชาติ (Standards Developing Organization หรือ SDO) เร่งประสานความร่วมมือกับนักวิจัยไทยในการจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นผลงานนักวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ รัฐมนตรี อว. ที่เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย วศ.อว.ได้จัดทำโครงการการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ให้ทันต่อความต้องการของผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ โดยใช้กลไกการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specification) สำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ล่าสุด วศ.อว. สามารถผลักดันงานวิจัย “แผ่นยางสำหรับผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล” โดยที่ วศ. ได้ร่วมมือกับนักวิจัยในประเทศ พัฒนาข้อกำหนดคุณลักษณะเพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และผลักดันให้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงบประมาณ และได้นำแผ่นรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ
สำหรับงานวิจัย “แผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ” เป็นงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชนกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแบบแผ่นรองฝ่าเท้าสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ทำแผ่นรองฝ่าเท้าและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการขึ้นรูปอย่างแม่นยำ มีวัตถุประสงค์ช่วยกระจายน้ำหนักให้ทั่วฝ่าเท้า และสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับบาดแผล อาการเท้าผิดรูป และผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคที่เท้าได้ง่าย ผู้ที่มีลักษณะเท้าแบนที่เกิดอาการข้อเท้าและนิ้วเท้าผิดรูปได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีปัญหารองช้ำ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการแผ่นรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับรูปเท้าและสวมใส่สบาย
ทีมวิจัยได้คิดค้นวัสดุผสมเอทิลีนไวนิลอะซิเตท (Ethylene-vinyl acetate: EVA) กับพอลิเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติกระจายแรงกดและลดแรงกระแทกจากการเดินหรือวิ่ง มีความยืดหยุ่น คืนตัวได้ดีเมื่อโค้งงอ น้ำหนักเบา กันน้ำ และนุ่มสบายเมื่อสวมใส่ วัสดุผสมดังกล่าวใช้ร่วมกับการออกแบบพื้นรองเท้าเฉพาะรายบุคคลด้วยโปรแกรมออกแบบสามมิติ และเครื่องกัดขึ้นรูป CNC (Computer numerical control) ทำให้การขึ้นรูปมีความละเอียดและแม่นยำสูง แม้ว่าได้จดอนุสิทธิบัตรของวัสดุผสม EVA (เลขที่ 2003001509) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมวัสดุผสมดังกล่าว ยังไม่สามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ที่จะรับรองผลิตภัณฑ์ชนิดนี้
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว วศ.อว.จึงได้เข้าช่วยเหลือทำงานร่วมกับนักวิจัยโดยได้เร่งจัดทำเป็นข้อกำหนดคุณลักษณะของแผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพขึ้น และได้ออกเป็นประกาศกรมวิทยาศาสตร์บริการ ข้อกำหนดคุณลักษณะแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล (DSS 6) เพื่อรับรองและผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนนวัตกรรมได้สำเร็จ และกระจายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่ผลิตได้เองในประเทศโดยคนไทย มีราคาย่อมเยา เป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วย
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป
- 129 views