ก.คมนาคม-สสส.-มูลนิธิเมาไม่ขับ จัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน เผยสถิติ สงกรานต์ 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 264 คน บาดเจ็บอีก 2,208 คน เยาวชนต่ำกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงดื่มแล้วขับสูงขึ้น 21% คาดสงกรานต์ 2567 ปชช. เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะราว 2.05 ล้านคน เพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้ว 23.95% ย้ำความมั่นใจ พนง.ขนส่งสาธารณะปลอดแอลกอฮอล์ 100%
วันที่ 11 เม.ย. 2567 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มูลนิธิเมาไม่ขับร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุเมาไม่ขับ ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งบรรยากาศในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องอันตรายจากการเมาแล้วขับ สติ๊กเกอร์แผ่นพับ คู่มือการเดินทางสงกรานต์อย่างไรให้ปลอดภัย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องที่ผ่านมา เป็นข่าวที่นำมาซึ่งความเศร้าเสียใจแก่ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แม้ว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ป้องกันอย่างเต็มที่ แต่สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็ยังสูงอยู่
จากข้อมูลที่เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 264 คน บาดเจ็บอีก 2,208 คน นับเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลของประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมในการขับขี่ ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนกฎจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพี่น้องประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย. 2567 รวม 7 วัน ประมาณ 2.05 ล้านคน-เที่ยว แบ่งเป็น รถบขส. 772,730 คน รถไฟระหว่างเมือง 645,600 คน และท่าอากาศยาน 629,365 คน เพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้ว 23.95%
“นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม บูรณาการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และให้ทุกภาคส่วนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย จึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อุบัติเหตุต้องเป็น “ศูนย์” ด้วยการตรวจเข้มความพร้อมของรถโดยสาร และพนักงานขับรถแบบ 100% โดยได้กำชับให้ บขส. อำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ตามนโยบาย “สะดวก สบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ” ซึ่งสถานีขนส่งหมอชิต 2 ได้ปรับปรุงให้สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. และเชื่อมต่อกับระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถแท็กซี่ได้ที่บริเวณ ชั้น 1 ประตูทางออกที่ 4 สถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อป้องกันมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหลอกลวงและเอาเปรียบผู้โดยสาร หากพบรถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม หรือปัญหาอื่น ๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที หรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก” รมช.คมนาคม กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ มุ่งปรับลดพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มวินัยความปลอดภัยการใช้รถ และถนนอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการบาดเจ็บ และเสียชีวิตช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยดื่มแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์และล้มเองสูงถึง 53% ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก พนักงานขับรถจึงต้องมีความพร้อมทางร่างกาย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งก่อน และระหว่างขับรถ เพราะในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่างกายจะยังไม่ดูดซึม แต่เมื่อขับขี่ยานพาหนะร่างกายจะจะดูดซึมแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดอาการมึนเมา ส่งผลต่อการตัดสินใจ ขาดสติ ถึงขั้นหมดสติ และนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้ ประชาชนที่กลับภูมิลำเนาด้วยตนเอง ต้องไม่ประมาทในการใช้รถใช้ถนน จากข้อมูลของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เผยว่า 56% มักเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมี 5 กม. และ 78% เสียชีวิตบนเส้นทางที่ใช้ประจำ จึงขอเน้นย้ำ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว สวมหมวกนิรภัย เพื่อลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์
“เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สสส. อยากให้ทุกคนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย เพราะจากสถิติสงกรานต์ปี 2566 มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากดื่มแล้วขับมากถึง 628 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา 21% จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ฝากให้ทุกคนเป็นตำรวจครอบครัว ติดตาม ตรวจ เตือนคนในครอบครัว ที่อาจจะมีโอกาสเสี่ยง ช่วยกันกระตุ้นเตือน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วไปขับรถ เพื่อร่วมรณรงค์สังคม สสส. จึงได้ Kick off แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” สื่อให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมการตัดสินใจ คึกคะนอง กล้าเสี่ยงมากขึ้น และผลิตชุดคู่มือ # save สมองจากอุบัติเหตุการขับขี่ ที่รวบรวมข้อมูล แนวทางป้องกัน สาเหตุที่ทำให้สมองเสียหายจากการไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มแล้วขับ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/?p=353265 ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาคนดื่มแล้วขับอย่างเป็นรูปธรรม และพิสูจน์ทราบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนเสียชีวิต ปัจจุบันบทลงโทษ 3-10 ปี ถ้าผู้ก่อเหตุรับสารภาพ แม้ว่าศาลสั่งจำคุกด้วยโทษสูงสุด 10 ปี ผู้ก่อเหตุรับสารภาพศาลลงโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 5 ปี ซึ่งโทษจำคุก 5 ปี อยู่ในเงื่อนไขที่ศาลสามารถรอลงอาญาผู้ก่อเหตุได้ จึงทำให้ผู้ที่ดื่มแล้วขับชนคนตาย ไม่มีรายใดเคยถูกจำคุกเลย
มูลนิธิเมาไม่ขับขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมช่วยรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ดังนั้นมูลนิธิเมาไม่ขับจึงได้ทำหนังสือเสนอให้กับรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม ขอให้สนับสนุนการแก้ไขบทลงโทษเมาแล้วขับชนคนเสียชีวิตจากโทษจำคุก 3-10 ปี เป็นจำคุก 11-13 ปี เพื่อเอาจริงกับผู้ดื่มแล้วขับที่จะทำให้เพื่อร่วมทางผู้ขับขี่อื่นที่ขับขี่ตามกฎจราจรเดือนร้อนถึงขั้นเสียชีวิต และซ้ำร้ายกว่านั้น “ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต” ในฐานะที่ตนทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมากว่า 30 ปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่การจัดการกับคนเมาแล้วขับอย่างจริงจังเพื่อลดความสูญเสียจากปัญหาการดื่มแล้วขับ
- 122 views