"หมอชลน่าน" ให้ ปชช.สิทธิบัตรทอง เข้ารักษาได้ทุก รพ. หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติช่วง สงกรานต์ 2567 ตามนโยบาย UCEP กรณีเจ็บป่วยไม่ถึงขั้นวิกฤติ รักษาที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.ได้ทุกที่ ผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง รับบริการรักษาผ่าน 4 ช่องทาง ไม่เสียค่าใช้จ่าย
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ที่มีวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน 2567 ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางต่างจังหวัดเพื่อกลับบ้านหรือเยี่ยมเยียนครอบครัว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ สปสช.ดูแลพร้อมแจ้งผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท หากเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ในการเข้ารับบริการแบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติถึงแก่ชีวิต หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิ UCEP ซึ่งจะเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีระเบียบการเบิกจ่ายในส่วนของ UCEP ภาครัฐด้วย จากเดิมที่มีการเบิกจ่ายสิทธิ UCEP ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น นั่นหมายความว่าโรงพยาบาลรัฐที่รับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิตด้วยสิทธิ UCEP ก็จะเบิกจ่ายได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาผู้ป่วยตามสิทธิ UCEP
สำหรับสิทธิ UCEP นั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำ โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ 6 อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ ประกอบด้วย
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- มีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
หากป่วยฉุกเฉินแต่ ‘ไม่วิกฤติถึงแก่ชีวิต’ สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ทำแผลต่อเนื่อง ตัดไหม หรือยาหมด (ต้องกินยาต่อเนื่องแต่ยาหมดระหว่างเดินทางไปต่างพื้นที่ มาขอรับยาได้) ฯลฯ สามารถเข้ารักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลประจำอำเภอ, หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยยื่นบัตรประชาชนและแจ้งใช้สิทธิบัตรทอง
3.กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย สปสช.ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มบริการให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ดังนี้
• เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสังเกตสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies
• เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารักษาโรคเบื้องต้นตามขอบเขตวิชาชีพได้ที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 1,300 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ สังเกตสติกเกอร์ คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น
• เจ็บป่วยเล็กน้อย 42 อาการ หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) มีที่อยู่ให้จัดส่งยาได้ พบหมอออนไลน์ รอรับยาที่บ้านผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 ช่องทาง ดูรายละเอียดที่ https://www.nhso.go.th/news/4386
4.ประชาชนสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปหรืออยู่ที่จังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นอกจากเข้ารักษาที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำแล้ว ยังสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่กับหน่วยบริการของรัฐและเอกชนที่เข้าร่วม โดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว ดูรายชื่อหน่วยบริการเอชนที่เข้าร่วมได้ที่ https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-all-provinces
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยกลุ่มไม่มีอาการหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรับบริการรับยาที่ร้านยา, บริการโควิด-19 ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และบริการปฐมภูมิทุกที่ได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิ โดย สปสช. ยังคงสิทธิประโยชน์บริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง ดูรายละเอียดที่ https://www.nhso.go.th/news/3674
- 119 views