กรมควบคุมโรค เผย ต้นปี 67 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเกือบ 3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน แนะยึดหลัก “สก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ หมั่นล้างมือเป็นประจำ หากมีอาการอาเจียนรุนแรง ถ่ายอุจจาระเหลวหรืออุจจาระมีเลือดปน มีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
วันนี้ 4 เมษายน 2567 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่องข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 27,320 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี พบการระบาดทั้งหมด 14 เหตุการณ์ โดยสถานที่ที่พบ ได้แก่ โรงเรียน 11 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 1 เหตุการณ์ โรงงาน 1 เหตุการณ์ และที่พัก 1 เหตุการณ์
ซึ่งโรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค อาจเป็นได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ จึงพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศร้อนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้อาหารเกิดบูดเสียได้ง่าย และมักพบการระบาดในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมอาหารและน้ำสำหรับคนหมู่มาก หากการเตรียม-ปรุงประกอบอาหารไม่ถูกหลักอนามัย ไม่มีการบริหารจัดการเพื่อรักษาคุณภาพอาหารอย่างเหมาะสม ผู้สัมผัสอาหารไม่ปฏิบัติตามสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากได้
แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ลดเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษ
แพทย์หญิงจุไร กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุง สุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ หลีกเลี่ยงเมนูอาหารที่บูดเสียง่าย อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากมีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน ควรเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด มีคุณภาพ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ควรเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมาย อย. สำหรับผู้จำหน่ายอาหาร ขอให้ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารและสุขลักษณะส่วนบุคคล รักษาความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์ สถานที่ปรุงประกอบอาหารให้ปราศจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร ไม่แช่สิ่งของอื่นปนในถังบรรจุน้ำแข็งบริโภค ให้ใช้อุปกรณ์ที่สะอาดคีบ/ตักอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือมีไข้ หลังจากรับประทานอาหารและน้ำ ถ้าอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น โดยดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) จิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก อาเจียนมาก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน กระหายน้ำ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422\
\
- 824 views