ปลัด สธ. เผย การเบิกจ่ายค่าตอบแทน "เสี่ยงภัยโควิด" หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คืบหน้าไป 67% ที่เหลือยังติดขัดเรื่องการส่งเอกสารล่าช้า-ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ จัดประชุมชี้แจงทางออก ปรับแก้เอกสารการเบิกจ่ายให้ถูกต้อง พร้อมเร่งรัดให้เสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อให้เสนอของบประมาณรอบสุดท้ายของครึ่งเดือนหลัง มิ.ย. - ก.ย. 2565  ต่อไป

ตามที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานโควิด ต่างโพสต์แสดงความคิดเห็นถึงปัญหายังไม่ได้รับงบประมาณค่าเสี่ยงภัยโควิด ทั้งที่ครม.อนุมัติงบไปตั้งแต่ปี 2566 โดยส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยตัว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงาน หวั่นกระทบการปฏิบัติงานนั้น

 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานการประชุมติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19  กรณีค่าตอบแทนเสี่ยงภัย พร้อมกล่าวว่า ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกมิถุนายน 2565 จากงบกลาง วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท

ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขวงเงิน 1,362.76 ล้านบาท ได้เบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว คงเหลือส่วนของหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1,633.19 ล้านบาท จำนวน 26 หน่วยงาน ที่มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน

 

เบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดนอกสังกัดกว่า 67%

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม 2567 หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการเบิกจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ไปแล้ว 1,099.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.34 คงเหลือ 533.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.66 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เบิกจ่ายแล้ว ร้อยละ 68.03 กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 63.92 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 69.05 กระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 12.81 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 99.87 สภากาชาดไทย ร้อยละ 97.31 และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร้อยละ 89.04 โดยสาเหตุที่ทำให้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ครบเนื่องจากการส่งเอกสารล่าช้า เอกสารไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ทำให้ต้องส่งกลับไปแก้ไข

 

"กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานเบิกจ่ายงบประมาณจึงมีการประชุมเพื่อชี้แจงการแก้ไขเอกสาร ข้อมูลการเบิกจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ และร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยกรณีต้องขยายเวลาเบิกจ่ายเพิ่ม ต้องเร่งเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 รวมทั้งพิจารณาทบทวนการเสนอคำของบประมาณค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในส่วนที่เหลือระหว่างครึ่งเดือนหลังของมิถุนายน - กันยายน 2565 วงเงิน 3,749 ล้านบาท ซึ่งต้องรอให้การเบิกจ่ายรอบนี้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถดำเนินการเสนอของบประมาณรอบใหม่ได้" นพ.โอภาสกล่าว