กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ป่วยจิตเวช "อย่าขาดยาเด็ดขาด" แม้อาการดีขึ้น สามารถกลับมากำเริบได้ เสนอ สปสช. เร่งสนับสนุนยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อผู้ป่วยครอบครัวและสังคม

วันที่ 29 มีนาคม 2567 กรมสุขภาพจิต ชี้แจงกรณีคลิปของเพจดังที่มีประชาชนในเขตอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือกรณีบุตรชายมีอาการคลุ้มคลั่ง ขู่ทำร้ายบิดามารดา พบปมสำคัญการขาดยาและรักษาไม่สม่ำเสมอติดต่อกันกว่า 5 เดือน ร่วมกับการใช้สารเสพติดเป็นเหตุให้อาการรุนแรงขึ้น ได้ติดตามข้อเสนอต่อบอร์ด สปสช. ถึงกรณียาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงอย่างเต็มที่ เพื่อรีบนำมาแก้ปัญหาผู้ป่วยไม่ยอมทานยาให้การรักษามีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชุมชน

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ป่วยจิตเวชขาดยา นานกว่า 5 เดือน ร่วมกับใช้สารเสพติดเป็นประจำจนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง พูดคนเดียว ขู่ทำร้ายพ่อแม่เป็นประจำทุกวัน จนมีชาวบ้านร้องเรียนขอความช่วยเหลือนั้น สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีสัญญาณเสี่ยง ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่กำหนดให้มีการควบคุมตัวบุคคลลักษณะนี้เข้ารับการรักษา ทั้งนี้สามารถป้องกันอาการป่วยทางจิตกำเริบได้ โดยการกินยาและดูแลรักษาต่อเนื่องไม่ขาดยาร่วมกับการงดสุรา/ยาเสพติด

เสนอการบรรจุยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง ต่อบอร์ด สปสช.

ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบกินยา หรือไม่กินยาอย่างสม่ำเสมอ แพทย์มีทางเลือกที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่นที่ดีและเหมาะสม เช่น ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ยาวเป็นเดือน ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตยื่นเรื่องขอเสนอการบรรจุยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง ต่อบอร์ด สปสช.เพื่อนำเข้าในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติตามความต้องการของเครือข่ายและประชาชน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว ดังนั้นจึงขอให้ บอร์ด สปสช เร่งพิจารณาการสนับสนุนยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง เพราะนอกจากจะเป็นการทำเพื่อลดอาการกำเริบ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ยังสร้างความปลอดภัยในชุมชนในวงกว้างอีกด้วย

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ระบุถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยยังคงใช้ยาเสพติดเกือบทุกวัน ชี้ให้เห็นว่า ในพื้นที่ยังคงมีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงยาเสพติดได้โดยง่าย ดังนั้นมาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กัน คือ การเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะไม่ให้ผู้ป่วยจิตเวชใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และยาเสพติด ทำให้อาการทางจิตเวชกำเริบ และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยารักษา โรคทางจิตเวชทุกโรคสามารถรักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่ต้องไม่ขาดยา นอกจากนี้ ญาติและคนรอบข้างจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบำบัดฟื้นฟู พูดคุยเพื่อทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจ และสามารถดูแลตัวเองได้อย่างดี การดูแลด้วยสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ที่จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนทำให้ผู้ป่วยมีความเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับปัญหาได้

การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชไม่ได้สิ้นสุดที่โรงพยาบาล

แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอเน้นย้ำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่สำคัญไม่ได้สิ้นสุดที่โรงพยาบาล ไม่สามารถมอบให้เป็นภาระของใครหรือหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะได้ การป้องกันการเกิดภาวะอันตรายจากความเจ็บป่วยทางจิตนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ระบบ SMI - V scan โดยสังเกตุ 5 สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการอาการทางจิตเวชนำไปสู่การก่อความรุนแรง 1. ไม่หลับไม่นอน 2. เดินไปเดินมา 3. หงุดหงิดฉุนเฉียว  4. พูดจาคนเดียว  5. เที่ยวหวาดระแวง รวมไปถึงระบบการแจ้งเตือนกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มาติดตามการรักษา โดยอาศัยความร่วมมือครอบครัว ชุมชน หน่วยงานของรัฐ ทั้งในระบบสาธารณสุข และนอกระบบสาธารณสุข ในการติดตามเฝ้าระวังอาการเตือน ผู้ป่วยที่อาจจะมีแนวโน้มก่อความรุนแรงและรีบนำมาสู่การบำบัดรักษา ก่อนที่อาการทางจิตจะกำเริบรุนแรงจนเกิดภาวะอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

กรมสุขภาพจิตขอแสดงความห่วงใยต่อประชาชนทุกท่าน ซึ่งกรณีที่สามารถนำตัวมารักษาได้ ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2562 ได้แก่ (1) มีภาวะอันตราย ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคมได้ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง และ(2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเอง ซึ่งหากพบหรือเริ่มรู้สึกว่าผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติดในชุมชนจะเริ่มใช้ความรุนแรงให้เลี่ยงเผชิญหน้าและโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สายด่วน 191 ได้ หรือในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323