รองปลัด สธ.ย้ำตรวจสอบข้อมูล 101 รายการ เปรียบเทียบข้อมูลแฮกเกอร์ไม่ตรงกับข้อมูลสธ.  ด้าน สกมช.ย้ำอีก! ไม่ใช่หมอพร้อม เป็นไปได้ทั้งข้อมูลจากรัฐและเอกชน ชี้แฮกเกอร์อ้างตัวเลขสูงเกินจริง ด้านโฆษกฯ เผยเตรียมของบฯ  2,000 ล้าน ยกระดับระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศ ความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แถลงข่าวกรณีแฮกเกอร์ประกาศขายข้อมูลที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานของ สธ. 2.2 ล้านชื่อ 

แฮกเกอร์ อ้างหลุดจาก 7 หน่วยงาน แต่ตรวจสอบไม่พบของสธ.

นพ.พงศธร กล่าวว่า นพ.พงศธรกล่าวว่า เราพบว่า มีการประกาศขายข้อมูลในเว็บไซต์ Breachforums.cx โดยแฮกเกอร์ใช้ชื่อว่า infamous ประกาศขายข้อมูลวันที่ 15 มี.ค. 2567 จากการตรวจสอบมีข้อมูลทั่วไปจำนวน 101 ข้อมูล ประกอบด้วย ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และวันเดือนปีเกิด ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากการเปรียบเทียบรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ สธ.จำนวน 5 ฐานข้อมูล ทั้ง 43 แฟ้ม DDS FDH PHR และฐานข้อมูลระดับจังหวัด พบว่าไม่ตรงกับรูปแบบการเก็บข้อมูลของ สธ. ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าชุดข้อมูลดังกล่าวมาจาก สธ.

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า มีการประกาศขายข้อมูลลักษณะเดียวกันอีก 7 หน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชน ไม่ใช่แค่ สธ.

เปรียบเทียบข้อมูลแฮกเกอร์ ไม่ตรงกับของ สธ.

"จากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข และจากการเปรียบเทียบรูปแบบการเก็บข้อมูลกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 5 ฐานข้อมูล พบว่าไม่ตรงกับรูปแบบการเก็บข้อมูลของ สธ. ขอย้ำว่า ได้วางเรื่องระบบความปลอดภัยไว้แล้ว มีการพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security & PDPA) ส่วนโรงพยาบาลก็มีการประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะ ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังมีการวางระบบเพื่อความปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีผู้บริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Chef Information Security Officer - CISO) เป็นระบบของประเทศสิงคโปร์ ที่นำใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะรับผิดชอบงานด้านความปลอดภัย" นพ.พงศธร กล่าว

 

 

นพ.พงศธร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันข้อมูลที่มีการหลุดออกมาจำนวนมากทั้งต่างประเทศและประเทศไทย มักเป็นเหตุการณ์ที่โดนโจมตีจากแฮกเกอร์ระดับนานาชาติ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นยังถูกโจมตีได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์ให้สามารถรับมือการถูกโจมตี และยังให้บริการผู้ป่วยต่อไปได้ โดยมีการพัฒนาผู้บริหารด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศระดับสูง จัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านสาธารณสุข และพัฒนาคุณภาพระบบเทคโนโลยีให้ได้มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แบบรวม ทั้ง HAIT+ ISO27001 ISO27799 และ NIST Cybersecurity Framework มีมาตรฐานกระบวนการ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ อาทิ การค้นหาช่องโหว่ของระบบ การทดลองเจาะระบบ รวมถึงอบรมพัฒนาบุคลากรทั้งด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความรอบรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 

นอกจากนี้ ยังจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์สำรองข้อมูล Firewall เป็นต้น โดยมีการปรับเพิ่มกรอบวงเงินในการพิจารณาจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ โดยระดับกระทรวงสาธารณสุข เกิน 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ระดับกรม/เขตสุขภาพ ไม่เกิน 50 ล้านบาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ไม่เกิน 10 ล้านบาท โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมถึงปรับระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถจัดหาครุภัณฑ์และระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ได้รวดเร็วขึ้น

สกมช.ยืนยันไม่เกี่ยวกับ "หมอพร้อม" 

ด้านพล.อ.ต.อมร กล่าวว่า ตอนนี้กำลังตรวจสอบแหล่งที่มาว่าข้อมูลจะหลุดมาจากแหล่งไหน เบื้องต้นตรวจสอบว่า หลุดมาจาก สธ.หรือไม่ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า ไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมา มีการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่เคยรั่วไหล แล้วจึงนำ Index เดิมมาเช็ค มั่นใจได้ว่า ไม่ใช่ข้อมูลชุดเดิมจากหมอพร้อม ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีโอกาสรั่วไหลได้จากทั้งภาครัฐและเอกชน 

อ้างข้อมูลหลุดหลักล้าน แต่จริงๆ ไม่ถึง

"ยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อมูลเก่ามาขายซ้ำ แฮคเกอร์คนนี้ขายข้อมูลจากหลายประเทศ ก็จะนำข้อมูลมาโพสต์ ซึ่งไม่ได้เกิดแค่ภาครัฐ แต่มีภาคเอกชนร่วมด้วย เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันภัย ก็ต้องตรวจสอบต่อไป แฮกเกอร์คนนี้จะอ้างจำนวนเยอะ ๆ ที่ผ่านมามีตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักหลายแสนเรคคอร์ด แต่ข้อมูลที่เข้าถึงเพื่อเป็นหลักฐานได้ จำนวนยังไม่มาก มีการเคลมเกินจริง อย่างที่เคยได้ยินเรื่อง 16 ล้านคนจริง ๆ คือ 16 ล้านเรคคอร์ด ซึ่งตอนนั้นมีข้อมูล Hospital ID นำไปเทียบได้เลยว่าจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มาจากระบบที่มีข้อมูลแค่ 10,000 คน ซึ่งเจอหลายครั้ง แต่เราต้องใช้เวลาตรวจสอบ ตามที่แจ้งว่า การบริหารจัดการต้องมาก่อน เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วเรียกคืนไม่ได้ การป้องกันตั้งแต่แรกสำคัญที่สุด สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ อุดรูรั่ว หาให้ได้ว่า หลุดมาจากที่ไหน พร้อมยกระดับการป้องกัน" พล.อ.ต.อมร กล่าว

 

แนะเปลี่ยนพาสเวิร์ดทุก 90 วันลดเสี่ยง

เมื่อถามว่าการเปลี่ยนพาสเวิร์ดควรเปลี่ยนบ่อยครั้งมากน้อยแค่ไหน    พล.อ.ต.อมร ล่าวว่า อาจจะต้องสมดุลกัน ระหว่างยังไม่มีระบบที่ดีกว่า ก็เปลี่ยนพอสมควร ที่แนะนำคือ 90 วัน หากรั่วไป ผ่านไป 3 เดือนก็จะเข้ามาไม่ได้ จะเป็นอะไรที่ทำได้ก่อน แต่ถ้าจะดีกว่านั้นอยากให้ใช้ ThaiD (ไทยดี) ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถใช้ Log on ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ระบบจะส่งคิวอาร์โคด เราเจ้าของมือถือต้องสแกนคิวอาร์โคดเข้าไป พาสเวิร์ดไม่ต้องใช้ไม่ต้องจำ รับผิดชอบแค่มือถืออุปกรณ์ตัวเอง ระบบก็ปลอดภัยขึ้นมา 90% บ่อยครั้งรั่วจากตัวพาสเวิร์ด ยิ่งเป็นพาสเวิร์ดแอดมินก็เรื่องใหญ่ เพราะจะเข้าไปทำความเสียหายดึงข้อมูลได้เยอะ คนทั่วไปก็มีดอกาสเพราะบางคนเข้าถึงข้อมูลได้มาก จากยูสเซอร์เนมพาสเวิร์ดรั่วของคนๆ เดียว กลายเป็นข้อมูลรั่วขององค์กรก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับสิทธิเข้าถึงข้อมูลของคนๆ นั้น

 

"นอกจากนี้ ฝากหน่วยงานรัฐว่า เวลาจ้างใครพัฒนาระบบ ต้องตามไปกำกับดูความปลอดภัยตั้งแต่ตอนจ้าง เพราะอีกเหตุการณ์ที่เจอบ่อย คือ ไปรั่วตอนกำลังพัฒฯา เพราะตอนผู้พัฒนาทำมาอาจจะนึกว่ายังไม่ส่งมอบจึงไม่มีใครรู้ แต่พอต่ออินเทอร์เน็ตก็เป็นโอกาสรั่วได้เช่นกัน ต้องให้กลไกกำกับดูแลทั่วถึงและเป็นความรับผิดชอบของทุกคนจริงๆ" พล.อ.ต.อมรกล่าว

เตรียมของบฯ 2 พันล้าน ยกระดับ Cyber security

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสริมว่า ระบบ CISO เป็นระบบมาตรฐานที่จัดตั้งขึ้น โดยตำแหน่งจะเป็นผู้บริหารนโยบายเรื่อง Cybersecurity จัดทำแผน จัดหาทรัพยากร จัดหาบุคลากร และดูแลระบบให้มีความพร้อม ป้องกันระบบให้ปลอดภัย หากสงสัยว่าจะโดนโจมตีหรือมีข้อมูลรั่วไหล ผู้บริหารคนนี้จะเป็นผู้ดูแลในแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์ ป้องกันการคุกคามและการโจมตีระบบความปลอดภัย

ส่วนเรื่องงบประมาณ มีแผนในการของบฯกลาง 2,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศ ที่เกี่ยวกับการปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องจัดหาระบบใหม่ ๆ มารองรับการขยายตัวของข้อมูล และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

จ่อเอาผิดใช้โลโก้ สธ. หมิ่นประมาท

ถามย้ำว่าตรวจสอบแล้วยังไม่เจอข้อมูลมากกว่า 101 ข้อมูลใช่หรือไม่  นพ.สุรัคเมธตอบว่า ใช่ ยังไม่เจอข้อมูลมากกว่านี้  

ถามอีกว่าเมื่อไม่ใช่ข้อมูลจาก สธ. จะมีการดำเนินการตรวจสอบหรือเอาผิดอะไรต่ออีกหรือไม่ นพ.สุรัคเมธกล่าวว่า เราจะแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์ในข้อหาใช้โลโก้กระทรวงฯ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นการหมิ่นประมาท และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งฝ่ายกฎหมายทราบแล้วอยู่ระหว่างการร่างคำฟ้อง โดยจะไปแจ้งใน 1-2 วันนี้