ที่ประชุม 11 องค์กร รวมสถานพยาบาล 90% ของประเทศไทย จัดตั้ง “เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือ Provider Board ด้าน “หมอสุรศักดิ์” ปธ.ยูฮอสเน็ต ชี้สมาพันธ์ไม่ได้คุยแค่เรื่องเงิน แต่รวมปัญหาต่างๆ อย่างขาดแคลนกำลังคน ขออย่ามองลบว่า ไม่มั่นใจสปสช. แต่เป็นอีกทางเลือกทางเสริมการทำงาน

 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ภายหลังการประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet)  ได้มีการหารือประเด็นปัญหาการเบิกจ่ายเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จนนำไปสู่การร้องเรียนต่างๆ และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ให้บริการ หรือ Provider Board โดยมีชมรม องค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ 11 องค์กร ประกอบด้วย  ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ชมรมทันตแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet)  ชมรมศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และชมรม รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในการประชุมได้มีมติเห็นชอบและจัดตั้ง “เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข” ( Confederation of Healthcare Providers) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.เพื่อเป็นศูนย์กลางของ Providers ที่จะประสานกับกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และสำนักงานประกันสังคม ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบบริการ อัตราค่าบริการ และสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประเทศให้เหมาะสม  

2.เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการจัดบริการ รวมทั้งเสนอรูปแบบบริการสุขภาพ

3.เพื่อประสานด้านอื่นๆ ตามที่สมาพันธ์เห็นชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

ทั้งนี้ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือยูฮอสเน็ต (UHosNet)  ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า สมาพันธ์ที่ตั้งขึ้น จะเป็นครั้งแรกในการร่วมกันของผู้ให้บริการส่วนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 11 องค์กร หากคิดเป็นสถานพยาบาลก็เกือบทั้งประเทศเฉลี่ย 90กว่า% ของสถานพยาบาลทั้งประเทศแล้ว จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาคส่วนผู้ให้บริการมาอยู่รวมกัน เพื่อหารือร่วมกันในประเด็นต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องเงินเท่านั้น แต่ยังรวมประเด็นการพัฒนา คน เงิน ของ ทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จะแตกต่างอย่างไรกับกรรมการผู้ให้บริการหรือ Provider Board ที่จะอยู่ในบอร์ดสปสช. รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ต่างกัน เพราะตรงนั้นเวลาประชุมจะอยู่ในกองทุนเดียว แต่อันนี้จะประสานกับกองทุนอื่นๆด้วย เราไม่ได้สนใจแค่ประชาชนสิทธิบัตรทองเท่านั้น  แต่ทุกสิทธิสุขภาพ  และอีกอย่างสมาพันธ์ จะเป็นเวทีให้ตัวแทนผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นได้หลากหลายมากขึ้น เพราะหากไม่มี บางครั้งการเข้าไปแสดงบางอย่างอาจมีข้อจำกัด ตรงนี้ก็เป็นอีกทางเลือก

“ที่สำคัญในสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ได้คุยเรื่องเงินเท่านั้น  แต่คุยเรื่องอื่นๆ เช่น พัฒนาคน หรือการขาดแคลนกำลังคน ก็จะเป็นเวทีในการมาหารือหาทางออกร่วมกัน รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการตั้งสมาพันธ์ฯ ขึ้นมาเพิ่มเติมจากบอร์ดของสปสช. เป็นเพราะไม่มั่นใจสปสช.หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อย่าพูดแบบนั้นมองมุมลบไป หากเรามัวแต่ทะเลาะกันคงไม่ได้ สุดท้ายประชาชนจะเดือดร้อน ควรมาคุยกันดีกว่า

เมื่อถามว่าอย่างกรณีเงินที่ยังเป็นหนี้ทางบัญชี และไม่ชัดว่าสรุปเป็นหนี้ของสปสช. หรือของรพ. จะทำอย่างไร รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่รู้เช่นกัน ก็ต้องรอว่าจะมีแนวทางอย่างไร ส่วนเรื่อง Provider Board นั้น ก็ต้องรอติดตามว่าจะออกมาในรูปแบบใด

ถามอีกว่าสมาพันธ์จะมีการหารือและเสนอแนวทางต่างๆ อย่างเรื่องปัญหาทางการเงิน ก็จะเสนอและส่งไปยัง Provider Board ใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ แต่สมาพันธ์ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อหารือประเด็นเงินของสปสช.เท่านั้น แต่เรารวมหลายๆประเด็น เพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนทุกสิทธิ และของหน่วยบริการด้วย

ด้าน นพ.อนุกูล  ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสเดียวที่จะรวม Provider ที่ผ่านมาไม่เคย จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ผู้ให้บริการทุกส่วนของประเทศไทยจะมีเวทีมาพูดคุยกันถึงประเด็นต่างๆ ไม่ใช่แค่คุยเป็นบางแห่งเท่านั้น โดยสมาพันธ์ที่ตั้งขึ้น จะช่วยให้การบริการสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมาะสมและดีกับประชาชนทุกสิทธิ์ รวมถึงความเหมาะสมของการเบิกจ่ายต่างๆ โดยชมรมฯ มีสมาชิกกว่า 130 แห่งก็สนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เคยมีตัวแทนจากผู้ให้บริการหลายแห่งกังวลว่า บอร์ดผู้ให้บริการที่จะตั้งขึ้นในบอร์ดสปสช.นั้น อาจไม่ตอบโจทย์จริงๆ เพราะหวั่นว่า สุดท้ายแล้วการบริการกับเงินอาจไม่สอดคล้องกัน และต้องการให้มีเครือข่ายภายนอก เพื่อคอยติดตาม และเสนอประเด็นต่างๆอีกทางหนึ่ง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ชลน่าน” เผย 11 องค์กรตั้ง “สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์” เป็นอีกทางเสริม Provider Board  )