ปลัดสธ. เผยเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี จ.อยุธยา ไม่พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ พบมีอาการหายใจไม่สะดวก กลิ่นเหม็นรำคาญ ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพน้ำ - อากาศพบปลอดภัย ขณะที่ไฟไหม้ โรงงานขยะรีไซเคิล อุบลฯ ยังไม่พบผู้รับผลกระทบ แต่ทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่พบใบอนุญาตประกอบกิจการ
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดูแลผลทางกระทบสุขภาพจากเหตุการณ์ไฟไหม้โกดังเก็บกากอุตสาหกรรม หมู่ 2 ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)พระนครศรีอยุธยา ว่า เบื้องต้นโกดังเก็บสารเคมีกากอุตสาหกรรม มีทั้งสิ้น 5 โกดัง ภายในมีถังบรรจุสารเคมีจำนวนมาก ภายนอกเป็นบ่อพักน้ำเสียขนาดใหญ่สีน้ำตาลเข้มกลิ่นคล้ายสารเคมี พื้นที่รอบโกดังในรัศมี 1 กิโลเมตร มีโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง โรงเรียน 7 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 3 แห่ง และวัด 10 แห่ง
ผู้รับผลกระทบเหตุไฟไหม้โกดังอยุธยารวม 87 รายในระยะ 500 เมตร
ทั้งนี้ ได้ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน โดยสอบถามผู้ได้รับผลกระทบรวม 30 หลังคาเรือน ในระยะจุดเกิดเหตุ จนถึง 3 กิโลเมตร พบว่าในระยะไม่เกิน 500 เมตร มีผู้ได้รับผลกระทบ 87 ราย จำนวน 25 หลังคาเรือน ในระยะ 1-3 กิโลเมตร มีผู้ได้รับผลกระทบ 8 ราย จำนวน 5 หลังคาเรือน ส่วนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่มีทั้งหมด 19 ราย เป็นเด็กเล็ก 8 ราย ผู้สูงอายุ 11 ราย ไม่พบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมทั้งไม่พบประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีเพียงอาการที่เกิดจากการได้รับควันไฟและกลิ่นเหม็นสารเคมี ทำให้หายใจไม่สะดวก รู้สึกรำคาญ และมีเถ้าเขม่าฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้ให้การดูแลและจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้มีอาการแล้ว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบ ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT) ของกรมอนามัยและศูนย์อนามัยที่ 4 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศเบื้องต้นในบ้านประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อหาการปนเปื้อนสารพิษ พบค่าระดับสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบรวมประมาณ 1.09 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ, การตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นจากค่าความเป็นกรด-ด่าง ในแหล่งน้ำสาธารณะใกล้โกดัง พบค่า pH ประมาณ 7.5 คือ มีความปลอดภัย ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ น้ำใช้ประชาชน น้ำทิ้งจากโรงงาน เพื่อเชื่อมโยงกับการปนเปื้อนสารเคมีของโกดัง ซึ่งอยู่ระหว่างส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน แต่จากการเดินสำรวจโดยรอบไม่พบการปล่อยน้ำเสีย หรือสารเคมีออกจากพื้นที่โกดัง
ทั้งนี้ โกดังที่เกิดเหตุไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกี่ยวกับสารเคมี ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จากหน่วยงานราชการท้องถิ่น และไม่พบใบอนุญาตประกอบกิจการลักษณะคล้ายคลึงกันจากหน่วยงานอื่น
ส่งทีมSehRT ลงพื้นที่ไฟไหม้ โรงงานขยะรีไซเคิล จ.อุบลฯ
ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นอกจากไฟไหม้โกดังในจ.พระนครศรีอยุธยาแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานขยะรีไซเคิลจังหวัดอุบลราชธานี กรมอนามัย จึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเมินความเสี่ยงสุขภาพประชาชนโดยเร่งด่วน จากการลงพื้นที่ พบว่า บริเวณรอบโรงงานเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีบ้านเรือนประชาชนเพียง 3 หลังคาเรือน และจากการสอบถามประชาชนยังไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ ไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะ จึงไม่การปนเปื้อนของสารเคมีลงในแหล่งน้ำสาธารณะ การตรวจวัดสารพิษปนเปื้อนในอากาศ พบว่า มีค่าอยู่ในระดับปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ตามกฎหมายว่าด้วย การสาธารณสุข ทีม SEhRTจึงร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เสนอแนวทางเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดเหตุไฟไหม้อีกครั้ง ดังนี้
1. ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อกำหนดท้องถิ่น เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุขพ.ศ. 2535 เพื่อสามารถควบคุม กำกับ การประกอบกิจการของสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดเสี่ยงต่อสุขภาพ และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย
2.แนะนำให้ผู้ประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขอาคาร และสถานที่ประกอบการให้ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บขยะรีไซเคิลให้เป็นหมวดหมู่ แยกขยะประเภทที่ติดไฟง่ายออกห่างจากแหล่งกำเนิดความร้อน หรือประกายไฟและต้องกำหนดมาตรการความปลอดภัย เช่น ติดตั้งถังดับเพลิง หรือ สเปรย์น้ำ ติดป้ายเตือนห้ามสูบบุหรี่หรือจุดไฟ ในบริเวณเก็บขยะรีไซเคิล แจ้งลูกจ้าง คนงานให้ถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
3. หน่วยงานในพื้นที่ ต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ร่วมกันผลักดันให้สถานประกอบการรับซื้อของเก่า เป็นประเด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการควบคุม กำกับเพื่อลดความเสี่ยงแก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน
“จากเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทั้ง 2 กรณี เกิดจากสถานประกอบการ โรงงาน หรือสถานที่ที่ประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตั้งกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจ ตรวจสอบ สถานประกอบการและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อการป้องกันภัยพิบัติซ้ำ ทั้งนี้ ขอให้ประเมินความเสี่ยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บสะสมวัสดุอุปกรณ์หรือสารเคมีอันตราย รวมทั้งให้มีการจัดระบบความปลอดภัยในอาคารอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดเหตการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
- 324 views