ที่ประชุมสธ. เห็นชอบตามโครงการผลิตพยาบาลเร่งด่วนตามข้อเสนอสถาบันพระบรมราชชนกและสภาการพยาบาล เหตุขาดแคลนสูง 51,420 คน พร้อมเปิดสัดส่วนไทยมีพยาบาลไม่พอดูแลประชากร เผย 5 จังหวัดแรกอัตราดูแลผู้ป่วยเยอะ ชี้หลักสูตร 2 ปีครึ่งหวังเติมในระบบแก้ปัญหา รับคนจบป.ตรี เน้นวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาหลายเรื่อง โดยเรื่องหนึ่งคือ การพิจารณาเห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการเสนอโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับวิกฤติขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาล โดยเป็นการผลิตระยะเร่งด่วน นำร่อง 2 ปี เป้าหมายปีละ 2,500 คน โดยเริ่มในปี 2568 เป็นการขอความเห็นชอบในหลักการเพื่อทดแทนพยาบาลที่ขาดแคลนในประเทศไทยอยู่ที่ 50,000 คน
“การผลิตพยาบาลดังกล่าว จะผลิตแบบใหม่โดยเป็นหลักสูตรเร่งรัดมาตรฐาน ใช้เวลาผลิต 2 ปีครึ่ง รับจากผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ไปต่อยอดเร่งรัดการผลิต ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกตกระบวนการผลิต หลักสูตรการรับรอง ความพร้อมของแหล่งผลิต เรื่องงบประมาณ จึงให้ทาง สบช. และผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อครม.ต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิกฤติพยาบาลขาดแคลน ณ ขณะนี้คืออะไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วิกฤติที่เจอคือ ความขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน อย่างแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่พยาบาลเรามีสัดส่วนดูแลประชาชนเฉลี่ยเพียง 1 ต่อ 300 กว่าคน มีเพียงบางพื้นที่อยู่ 1 ต่อ 700 คน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ 51,420 คน นี่คือเฉพาะภาครัฐ ไม่ได้รวมเอกชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องผลิตเพิ่ม แม้ที่ผ่านมาจะประสานภาคเอกชนที่ผลิตว่า จบมาแล้วจะดึงเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่พอ
สัดส่วนพยาบาลขาดแคลน
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนพยาบาล และปัญหาการกระจายกำลังคนด้านบริการสุขภาพตามภูมิภาคนั้น สัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 270 คน โดยไทยมีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 400 และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 500 โดยสัดส่วนประชากรต่อพยาบาลสูงสุดใน 5 จังหวัดแรก คือ
1.หนองบัวลำภู สัดส่วน 1 ต่อ 712 คน
2.บึงกาฬ สัดส่วน 1 ต่อ 608 คน
3.เพชรบูรณ์ สัดส่วน 1 ต่อ 572
4.กำแพงเพชร สัดส่วน 1 ต่อ 571
5.ศรีสะเกษ สัดส่วน 1 ต่อ 569
เมื่อถามว่าคนจบปริญญาตรีสาขาไหนก็สามารถศึกษาในโครงการนี้ได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สาขาไหนก็ได้ หากเป็นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็จะดี เพราะสามารถต่อยอดได้ง่ายกว่า
อ่านข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง :
-Nurses Connect ห่วงหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนจริง หรือเติมน้ำในโอ่งรั่ว
-พยาบาลโพสต์ว่อนหลัง สธ.เร่งผลิตหลักสูตรเร่งรัด 2 ปีครึ่ง ห่วง! มีมาตรฐานพอหรือไม่
- ส.ส.ก้าวไกล ซัดกลางสภา ‘พยาบาลขาดแคลน’ เหตุไร้อัตราบรรจุขรก. -ชม.การทำงานเกินปกติ
- 2452 views