กรมสุขภาพจิต ประชุมพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) ให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ "ผู้ประสบภาวะวิกฤต" ตามมาตรฐานตามที่กำหนด พร้อมแนะนำการใช้ฐานข้อมูลเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤต/ภัยพิบัติ (CMS) ให้ทีมวิกฤตสุขภาพจิตในเขตสุขภาพ
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) กรมสุขภาพจิต ประสานความร่วมมือพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการด้านวิกฤตสุขภาพจิตในเขตสุขภาพ เพื่อสนับสนุนเสริมกลไกในการปฏิบัติงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจได้ตามมาตรฐาน โดย นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์วิกฤตในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด ซึ่งล้วนแล้วมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบ่อยครั้ง
จากเหตุการณ์วิกฤตดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบภัยพิบัติทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา การพัฒนาระบบบริการและองค์ความรู้ ด้านวิกฤตสุขภาพจิตจากภัยพิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานของภารกิจดังกล่าว บรรลุวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวทาง การปฏิบัติงานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ทีมปฏิบัติการวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การที่เปลี่ยนแปลงของภัยพิบัติ ทั้งจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ และสถานการณ์โรคระบาดการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะให้กับทีมปฏิบัติการวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) และบุคลากรผู้รับผิดชอบงานสารสนเทศ (IT) ของหน่วยงานภายในกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ ที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภาวะวิกฤต ให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานตามที่กำหนดได้
นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่า ภาวะวิกฤต เป็นภาวะของจิตใจ อารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ มีการสูญเสียสมดุล ก่อให้เกิดความเคร่งเครียด และเป็นภาวะที่ยากต่อการปรับตัว หรือการเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่สามารถหาทางออกได้ และรูปแบบของสถานการณ์วิกฤตก็มีการพัฒนาขึ้นโดยเหตุการณ์นั้นเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศ การเตรียมพร้อมโดยการพัฒนาทีมงานเพื่อรองรับการปฎิบัติงานจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อให้แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบ หรือข้อมูล เพื่อที่จะทำให้การสื่อสาร และลดขั้นตอนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญการพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการด้านวิกฤตสุขภาพจิตในเขตสุขภาพ ตามแนวทางการปฏิบัติงานตามคู่มือการปฏิบัติงานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ฉบับปรับปรุง 2566 และการใช้ฐานข้อมูลเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤต/ภัยพิบัติ (Crisis Mental Health Surveillance System: CMS) มีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างระบบ และกลไกในการปฏิบัติงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจได้ตามมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้ประสบภาวะวิกฤตฟื้นหายทุเลาโดยเร็ว และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ฐานข้อมูลเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตสำหรับผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤต/ภัยพิบัติ (CMS) ในการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผลิตสารสนเทศได้ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นปัจจุบันมากที่สุด
- 189 views