กรมอนามัย ห่วงภาวะฉุกเฉินจากไฟไหม้บ่อขยะซ้ำในหลายพื้นที่ พร้อมส่งทีม SEhRT ระดับพื้นที่ทำการประเมิน เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งกำหนดมาตรการ ควบคุม กำกับ ป้องกันปัญหาไฟไหม้บ่อขยะที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประสบภาวะฉุกเฉินจากไฟไหม้บ่อขยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมอนามัยได้มีการสื่อสารเตือนภัยประชาชน พร้อมส่งทีม SEhRT ระดับพื้นที่ทำการประเมิน เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา และล่าสุดเกิดไฟไหม้บ่อขยะในจังหวัดภูเก็ต และปราจีนบุรีในช่วงเวลาเดียวกัน จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักเกิดกับบ่อขยะที่มีลักษณะแบบเทกอง พื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีระบบป้องกันและระบบแจ้งเตือนภัยความปลอดภัยที่ดี จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะลุกลามอย่างรวดเร็วยากต่อการเข้าถึงและดับไฟได้ จนส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบมีภาวะเสี่ยงและมีผลกระทบทางสุขภาพจากการสูดดมรับควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น
- หายใจไม่ออก
- ส่งกลิ่นเหม็นรำคาญ
- ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้
- บางรายมีอาการไอ แสบจมูก ตา และเป็นผื่นคัน
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐานหลายจังหวัด ทั้งที่มาจากสถานประกอบกิจการโรงงานที่ปล่อยควันพิษ การเผาวัชพืชทางการเกษตร การเผาในที่โล่งแจ้ง การคมนาคม และสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนทำให้เกิดภาวะอากาศปิดจึงมีฝุ่น PM 2.5 เข้มข้นสูงจนส่งผลกระทบต่อประชาชน ถือเป็นสถานการณ์ภัยสุขภาพที่สร้างปัญหาให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น
นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า เหตุไฟไหม้บ่อขยะถือเป็นอำนาจของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในการใช้อำนาจทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันและกำหนดแนวทางไม่ให้เกิดปัญหาไฟไหม้บ่อขยะในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยเบื้องต้นควรมีการสำรวจข้อมูลบ่อขยะ ลักษณะหรือรูปแบบของบ่อขยะที่มีในพื้นที่ให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้เห็นถึงขอบเขต และแผนที่ความเสี่ยงสุขภาพจากปัญหาบ่อขยะในพื้นที่ จากนั้นให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการดูแลสุขลักษณะและจัดการบ่อขยะตามมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพิ่มมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ อาทิ
1) ปิดกั้นพื้นที่บ่อขยะโดยรอบจัดให้มีรั้วรอบขอบชิด
2) จัดให้มีผู้ดูแลบ่อขยะ ป้องกันไม่ให้มีบุคลลภายนอกเข้ามาในพื้นที่ และอาจก่อประกายไฟจนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ในบ่อขยะ
3) จัดให้มีการปิดคลุมขยะหลังจากการเทกองในแต่ละวันเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะปลิวกระจายไปทั่วบริเวณ อาจทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงพาหะนำโรคได้
4) สร้างช่องทางการแจ้งเตือนภัยประชาชนเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และหาทางหลีกเลี่ยง ป้องกันตนเองและครอบครัวจากปัญหาควันไฟ ฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ ควรมีมาตรการควบคุมและลดการเผาในที่โล่งแจ้ง การเผาวัชพืชเพื่อการเกษตรของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงไฟไหม้ลุกลามมายังบ่อขยะ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วย
ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบ่อขยะ หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นในบ่อขยะหากพบควันไฟ ประกายไฟ หรือเปลวไฟให้รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานเข้าเผชิญเหตุ และเร่งดับไฟไหม้ในบ่อขยะให้เร็วที่สุด ลดการลุกลาม ลดปัญหาควันไฟและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชนน้อยที่สุด นอกจากนี้ หากต้องเผชิญสถานการณ์โดยตรง ให้ท่านรีบออกจากบ้านไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้บ่อขยะ หรือพื้นที่ที่หน่วยงานราชการกำหนด เพื่อลดการสัมผัสกลิ่นเหม็น เถ้า เขม่า และฝุ่นต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับควันไฟ
- 200 views