ผอ.รพ.ศรีธัญญา ชี้ 10 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตมากขึ้น เด็กซึมเศร้าตั้งแต่อายุน้อย "วัยทำงาน" มีปัญหาการปรับตัว Generation Gap ทำให้เครียด-นอนไม่หลับ ส่วนผู้สูงวัยมีอาการซึมเศร้า เหงา ลูกหลานไม่มีเวลาให้
จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2564 พบผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีผู้ป่วยเพียง 1.3 ล้านคน เน้นย้ำว่า ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทยเป็นปัญหาสำคัญ ที่ต้องอาศัยการเข้าใจปัญหาและข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวกับสำนักข่าว Hfocus ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิตมีความสำคัญ โดยได้ให้นโยบายโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลในอำเภอใหญ่ ๆ มีคลินิกจิตเวช เพื่อดูแลปัญหาสุขภาพจิต หรือแม้แต่ผู้ที่ใช้ยาเสพติด ก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้เช่นกัน
พบ! เด็กและเยาวชนเครียดเยอะขึ้น
"ใน 10 ปีที่ผ่านมา เรามีข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่น พูดคนเดียว หวาดระแวง หรือใช้สารเสพติด มีเพิ่มมากขึ้น เราเจอเด็กมีภาวะซึมเศร้าตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะเห็นได้จากข่าว เด็กตัดสินใจกระโดดจากที่สูงเพื่อทำร้ายตัวเอง มีปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาครอบครัวและการเรียน การส่งเสริมและป้องกันก่อนป่วยก็มีความสำคัญ หรือผู้ที่ไม่อยากมาโรงพยาบาล สามารถปรึกษาได้ก่อนที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 การให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชัวโมง"
พญ.มธุรดา เสริมว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียดเยอะขึ้น เป็นไปได้ทั้งการเสพสื่อต่าง ๆ พฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่ครอบครัวใช้เวลาร่วมกันน้อยลง เด็กจะใช้ชีวิตกันอย่างอิสระ รวมทั้งมีเด็กจากต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ ปัญหาจึงสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนที่มีอิทธิพลกับเด็ก ๆ รวมถึงการหาเพื่อนใหม่ในปัจจุบันก็ง่ายขึ้นด้วย และเป็นช่วงวัยของเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง อยากรู้อยากลองด้วย
"การปรับตัว-ความต่างระหว่างวัย" ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน
สำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในวัยทำงาน พญ.มธุรดา กล่าวว่า การปรับตัวเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ที่ผ่านมา มีสถานการณ์โควิด ทำให้การเรียน การฝึกงาน ไม่เหมือนกับช่วงก่อนหน้านั้น ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและเข้าทำงานจึงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ส่วนความต่างระหว่างวัยหรือ Generation Gap ก็มีผลเช่นกัน เนื่องจากอายุของเพื่อนร่วมงานที่แตกต่างกัน ความคิด ทัศนคติ ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ทำให้ความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้มีผู้ที่เข้ามาปรึกษาเรื่องความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือเป็นภาวะซึมเศร้าได้
สุขภาพจิต "ผู้สูงวัย" ครอบครัวต้องใส่ใจ
พญ.มธุรดา กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตใจของผู้สูงวัย ในสังคมผู้สูงอายุปัจจุบัน ว่า ผู้สูงอายุบางคนอาจโชคดีที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่บางคนมีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง ทำให้พบปัญหาสุขภาพจิตแฝงเข้ามาด้วย อีกทั้งสังคมปัจจุบันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ลูกหลานไม่ค่อยมีเวลามาหา เกิดความเหงา และบางครั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุก็ทำได้ยาก ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
- ภาวะซึมเศร้า
- ภาวะความจำเสื่อม
"ภาวะความจำเสื่อม มักพบได้ในผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเป็นประจำ หรือผู้สูงอายุติดเตียง วิธีป้องกันหรือดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ควรให้ออกไปข้างนอกบ้าง พบปะเพื่อน ทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือใช้โซเชียลมีเดียพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว การเข้าสู่สังคมจะเป็นการกระตุ้นกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้สูงอายุ รู้สึกไม่เหงา และได้รับการดูแลเอาใจใส่" พญ.มธุรดา กล่าว
พญ.มธุรดา กล่าวอีกว่า คนไข้ของโรงพยาบาลศรีธัญญาในตอนนี้ เป็นคนไข้ที่ซับซ้อนมากขึ้นจะไม่ได้ป่วยในเรื่องของสุขภาพจิตอย่างเดียว แต่ยังมีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ปัจจุบันโรงพยาบาลฯ มีการเปิดขยายเวลาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 16.00-20.00 น. เพื่อดูแลกลุ่มวัยทำงาน หรือผู้ที่ไม่สะดวกมาช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม เรื่องสุขภาพจิต ไม่ต้องรอป่วย หากรู้สึกไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้เลย
- 890 views