กรมควบคุมโรคห่วงวัยรุ่นไทยโรคจากเซ็กส์พุ่ง เดินหน้าตั้ง “ตู้ถุงยางอนามัย-ชุดตรวจเอชไอวีทุกที่” กดใช้ได้ฟรี พ่วงอยู่ในตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ เพิ่มเข้าถึงสะดวก คนกล้ากดมากขึ้น พร้อมนำร่อง 10 แห่งทั่วกทม.
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 วันวาเลนไทน์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรมดำเนินการเรื่องถุงยางอนามัย ทุกเวลา ทุกที่ (Condom anytime, anywhere) นำร่องเปิดตัวตู้กดถุงยางอนามัยอัตโนมัติในวันที่ 15 ก.พ.2567 ที่ลานอัฒจันทร์ ชั้น LG สยามสแควร์วัน กทม. โดยกรมได้มีการหารือกับภาคเอกชนที่ดำเนินการเรื่องตู้ขายเครื่องดื่มและขนมอัตโนมัติ ขณะนี้มี 1บริษัท คือ บริษัท ซันเวนติ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)ที่จะทดลองดำเนินการให้เป็นลักษณะของCSR เพื่อเป็นตัวอย่าง ด้วยการนำถุงยางอนามัยและชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง ไปใส่ไว้ในตู้ดังกล่าวแล้วให้สามารถกดใช้ได้ฟรี
เนื่องจากชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของทุกคนอยู่แล้ว ส่วนถุงยางอนามัย กรมและสปสช.มีการจัดซื้อเพื่อแจกเป็นประจำทุกปี แต่มีปัญหาเรื่องกระจาย จึงต้องประสานความร่วมมือกับเอกชน ในเรื่องของการช่วยกระจายผ่านตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ โดยก่อนหน้านี้มีการทดลอง 2 ตู้ที่สยามสแควร์วัน และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก
“รูปแบบนี้ จะทำให้คนที่ต้องการใช้กล้าที่จะเข้ามากดมากกว่าที่จะแยกตู้ถุงยางอนามัยอัตโนมัติอย่างเดียว เพราะคนอื่นๆที่จะไม่รู้ว่าที่เข้าไปกด จะกดเครื่องดื่ม ขนมหรืออะไร หลังจากนั้นจะประเมินผลและพิจารณา ก่อนกระจายแนวทางนี้ไปในตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติในสถานศึกษา โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยและสถานที่ที่วัยรุ่นใช้ชีวิตอยู่จำนวนมาก ซึ่งจะนำร่องกระจาย 10 จุดในพื้นที่กทม.”นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า การที่กรมต้องดำเนินการรณรงค์ให้คนใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยุร่น เพราะคนไม่กลัวการตั้งครรภ์ โดยเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุมเข็มเดียว จึงไม่ใช้ถุงยางอนามัย กรมควบคุมโรคจำเป็นต้องรณรงค์เรื่อการใช้ถุงยางอนามัย ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยไม่เฉพาะป้องกันการตั้งครรภ์
สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ช่วงปี 2560 – 2565 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มจาก อัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2565
โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วยในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2561 จากอัตราป่วย 11เพิ่มเป็น 24.8 ต่อประชากรแสนคน) และเพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 90.5 ต่อประซากรแสนคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย สอดคล้องกับข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอขไอวี ปี 2562 ที่พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ เพียง 80 % และใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งกับแฟนและคนรักไม่ถึง 40 %
ตู้กดถุงยางอนามัย ทุกเวลา ทุกที่ แนวทางใหม่
ตู้กดถุงยางอนามัย ทุกเวลา ทุกที่ (Condom anytime, anywhere) ถือเป็นการนำแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆเข้าให้กับสังคม ไม่ใช่จะดำเนินการเรื่องใดแล้วจะไม่มีแนวทางใหม่ๆเข้าไปดำเนินการ ถ้าทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะแบบเดิมๆ อย่างเช่น เรื่องชุดตรวจเอชไอวี ด้วยตนเอง อยากให้ประชาชนเข้าใจเรื่องเอชไอวีใหม่ว่า ต้องกล้าที่จะตรวจ สมัยก่อนอาจจะกลัวการตรวจ กลัวจะเป็นเพราะไม่มียา ติดเชื้อแล้วก็เสียชีวิต แต่ปัจจุบันการรักษาเปลี่ยนไป หากกินยามสม่ำเสมอ การกินยาโอกาสแพร่เชื้อต่อน้อยมาก แม้มีเพศสัมพันธ์ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คิดว่าติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการที่จะติดเชื้อ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อเพศสัมพันธ์ด้วย จะต้องเปลี่ยนความคิดเป็นกลัวติดโรค แต่ไม่ใช่กลัวว่าติดแล้วจะไม่มีการรักษา เพราะถ้าตรวจด้วยตัวเองแล้วพบติดเชื้อ ก็สามารถพบแพทย์เพื่อยืนยันผล หากผลบวกก็เข้ารับการรักษา รับยามารับประทานสม่ำเสมอ คนป่วยอายุยืนกว่าคนปกติก็มี
“ต้องทำความเข้าใจว่าการช่วยให้เข้าถึงถุงยางอนามัยได้สะดวก วันนี้เป็นการให้ป้องกันโรค ไม่ได้ส่งเสริมให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้มีความรู้และเข้าถึงการป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อก่อนวัยรุ่นใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เพราะกลัวเรื่องท้อง ปัจจุบันไม่มีกลัวเรื่องนี้ เพราะใช้วิธีการป้องกันตั้งครรภ์อย่างอื่น จึงต้องมาให้ความรู้เรื่องใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” นพ.ธงชัยกล่าว
- 799 views