นักวิชาการ ยกเคส ตปท. ขยายเวลาขายเหล้า ออสเตรเลียเพิ่ม 1 ชั่วโมง ทำร้ายร่างกายเพิ่ม 54% อุบัติเหตุเพิ่ม 47% บราซิลเคยเปิดขาย 24 ชั่วโมง ปัญหาอาชญากรรมพุ่ง! แนะรัฐควรวิเคราะห์ผลกระทบทางกฎหมาย (RIA) ของนโยบายนี้
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 รศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการควบคุมเครื่อดื่มแอลกอฮอล์เตรียมพิจารณาข้อเสนอจากฝั่งธุรกิจให้ยกเลิกช่วงเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า หลายประเทศมีมาตรการกำหนดช่วงเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานนานาชาติต่างมีข้อเสนอแนะให้มีการป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำกัดการเข้าถึงเชิงกายภาพ โดยการจำกัดวันและเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในสังคมได้ แต่ในทางกลับกันการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ดื่มแล้วขับ อุบัติเหตุจราจร และเสียชีวิต ซึ่งเป็นความสูญเสียทั้งต่อสุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน และเพิ่มภาระของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังผลกระทบที่ตามมาและให้การรักษาพยาบาล
“มีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เมืองเพิร์ต ออสเตรเลีย ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่ม 1 ชั่วโมง ทำให้มีการทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้นในพื้นที่นั้นประมาณ 54% มีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 47% พบการดื่มแล้วขับ และปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดสูงขึ้น เช่นเดียวกับเมืองเดียเดมา บราซิล ในอดีตเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง ทำให้มีปัญหาอาชญากรรมสูงมาก และเมื่อมีการกำหนดให้ลดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 23.00 น. ทำให้ปัญหาอาชญากรรมลดลงประมาณ 9 รายต่อเดือน แสดงให้เห็นว่า การขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้มีผลกระทบตามมาอย่างชัดเจน” รศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ตามมาตรการ SAFER มีข้อแนะนำในการจำกัดการเข้าถึงในด้านวันและเวลา และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนมีการจำกัดวันเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในบางประเทศที่มีนโยบายการขยายเวลาฯ ส่วนใหญ่จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ออสเตรเลีย เริ่มต้นในปี 1993 กำหนดขยายเวลาจำหน่ายเฉพาะในโรงแรมใจกลางเมืองนิวคาสเซิล โดยขยายเวลาจำหน่ายเพียง 1 ชั่วโมงจากเที่ยงคืนเป็น 01.00 น. ต่อมาในปี 2008 จึงค่อยขยับเวลาไปเป็น 03.00 น. หรือที่แคนาดา ในปี 1996 เริ่มขยายเวลาจำหน่าย 1 ชั่วโมง จากเดิม 01.00 น. เพิ่มเป็น 02.00 น.
รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า หากไทยต้องการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเริ่มต้นทีละน้อย อาจทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน แล้วประเมินผลลัพธ์ว่าสามารถรับมือกับผลกระทบเชิงลบได้หรือไม่ ก่อนที่จะขยายไปในพื้นที่อื่น ๆ พร้อมทั้งเฝ้าติดตามว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ สามารถดำเนินการได้อย่างดีหรือไม่ ก่อนที่จะขยายเวลาต่อไป รวมถึงภาระงานที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องแบกรับจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา
“รัฐบาลควรวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย/กฎเกณฑ์ (Regulatory Impact Analysis : RIA) ของนโยบายนี้ก่อนออกกฎหมาย เนื่องจากอาจมีผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางของ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และในระยะยาวอาจต้องพิจารณากำหนดให้แยกประเภทใบอนุญาตจำหน่ายสุราออกเป็นประเภทร้านที่มีกับไม่มีที่นั่งดื่ม และกำหนดวิธีควบคุม รวมทั้งสถานที่ตั้งและเวลาขายต่างกัน” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าว
- 116 views