กรมการแพทย์หนุน "นักดนตรีบำบัด" ร่วมทีมสหวิชาชีพ ช่วยดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร และสถานชีวาภิบาลดูแลป่วยระยะท้าย  ด้าน ว.ดุริยางค์ฯ มหิดล เร่งสร้างหลักสูตร หนุนให้มีใบประกอบโรคศิลป์ สร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น หากบุคลากรสาธารณสุขสนใจศึกษาต่อ ต้องเชี่ยวชาญดนตรี

 

เมื่อเร็วๆนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และรพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์  ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง และการฟื้นฟูร่างกายนั้น

(ข่าว : กรมการแพทย์ ร่วมดุริยางคศิลป์ ใช้ “ดนตรีบำบัด” ช่วยผู้ป่วยมะเร็ง ผู้สูงอายุ ชะลออัลไซเมอร์)

ทั้งนี้ การนำดนตรีบำบัดมาช่วยในการดูแลผู้ป่วยนั้น บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านนี้เรียกว่า “นักดนตรีบำบัด” ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จะส่งบุคลากรมาช่วยเสริม ในขณะเดียวกันเกิดคำถามประเด็นเป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะมีการผลักดัน “นักดนตรีบำบัด” มาเสริมทีมสหวิชาชีพ เพื่อรองรับนโยบายกระทรวงในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น...

นักดนตรีบำบัด จัดอยู่ในกลุ่มฟื้นฟู-นักกิจกรรมบำบัด

ล่าสุด พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า  บทบาทนักดนตรีบำบัดในทีมสาธารณสุข ก็จะอยู่ในกลุ่มนักฟื้นฟูหรือกลุ่มนักกิจกรรมบำบัด ถ้าจะมีตำแหน่งนักดนตรีบำบัดก็จะอยู่แถวๆ นี้ แต่การจะเปิดกว้างกว่านั้นก็ต้องเริ่มจากผลลัพธ์ที่เราทำจาก ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และ รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ในการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ว่าเกิดผลที่ดีแค่ไหน เกิดผลต่อสุขภาพอย่างไร การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ก็จะตามมาหลังจากความร่วมมือ

"กรมการแพทย์มีบทบาทนำในเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนของนโยบายกระทรวงฯ อย่างมะเร็งครบวงจร รพ.มหาวชิราลงกรณฯ ที่ให้การรักษามะเร็ง เมื่อรักษาแล้วรอการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ งานลักษณะนี้ที่จะมีการใช้ดนตรีบำบัด ก็จะไปเกิดและเก็บข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการพัฒนาระบบนโยบายหรือระบบบริหารได้ อีกเรื่องคือ สถานชีวาภิบาล ที่จะเข้ากับธีมมากที่สุด เครื่องมือหลายอย่างในสถานชีวาภิบาล สถาบันสิริธรฯ ก็จะมีบทบาทในการนำ ซึ่งจะไม่นำเฉพาะเครื่องมือเข้าไป แต่จะมีเรื่องของดนตรี  อุปกรณ์ดนตรี ก็ต้องถูกจัดวางเข้าไปด้วย ก็ต้องใช้เวลาอีกสักนิด ว่ามีนโยบายภาพใหญ่แล้ว ทั้งคน เงิน ของ จะออกแบบตรงนี้อย่างไร" พญ.อัมพรกล่าว

คาดการณ์ นักดนตรีบำบัด อีกวิชาชีพสำคัญดูแลผู้ป่วย

ด้าน พญ.บุษกร โลหารชุน ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า เราคาดการณ์พยากรณ์มา 10 ปีแล้วว่า นักดนตรีบำบัดป็นอีกวิชาชีพที่สำคัญ ที่ยังไม่มีคนรู้จักมาก ความร่วมมือตรงนี้เป็นไอเดียสำคัญว่า ดนตรีไม่ใช่แค่สันทนาการ แต่สามารถขึ้นมาเป็น "วิชาชีพ" ที่เคียงบ่าเคียงไหล่พวกเราทีมสาธารณสุขได้ ซึ่งทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็ตั้งเป้าว่า จะเกิดการสร้างวิชาชีพนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการยอมรับและบรรจุฐานวิชาชีพในอนาคต

รายละเอียดหลักสูตรเปิดสอนดนตรีบำบัด  

นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวถึงการเรียนดนตรีบำบัดว่า ตอนนี้ส่วนมากในประเทศไทยจะเปิดสอนในระดับปริญญาโท แต่วิทยาลัยฯ กำลังเตรียมเปิดหลักสูตรดนตรีบำบัดระดับปริญญาตรี ซึ่งจะมีความเข้มข้นกว่า เพราะต้องเรียนจิตวิทยา เรียนหลายเรื่องทางด้านการแพทย์ด้วย ในอนาคตคิดว่าจะพัฒนาถึงปริญญาเอก และหวังว่าสุดท้ายคือ จะมีใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งตอนนี้เราก็บังคับอาจารย์ให้ไปได้รับการรับรองจากต่างประเทศ (Board Certified) กันหมด ก็มีอาจารย์บางคนจบปริญญาเอกแล้ว ก็บอกว่าให้ไปใหม่กลับไปเอา Board Certified กลับมาให้เราให้ได้

"เรื่องนี้พูดง่ายๆ คือ หากเราต้องการนักดนตรีบำบัดมาดูแลพ่อแม่ หรือญาติของเรา เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่านักดนตรีบำบัดคนนี้สามารถดูแลคุณแม่ได้ดี จึงต้องมีอะไรสักอย่างมาการันตี ตรงนี้ก็จะเป็นมาตรฐานต่อไปที่จะทำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราไม่ได้ช้า เพราะดนตรีบำบัดเพิ่งเริ่มมา 20-30 ปีที่ยุโรปและอเมริกา อย่างในอเมริกาบางรัฐก็รับรอง บางรัฐไม่รับรอง บางรัฐผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง บางรัฐสนับสนุนจ่าย 70% หรือ 100% เพราะฉะนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ แต่เราเริ่มต้นเร็วเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ มาเลเซีย คิดว่าประเทศไทยก็ก้าวไปได้ไว" นายณรงค์กล่าว

คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ชี้ นักดนตรีบำบัด อาจไม่ถึงขั้นจัดเป็นวิชาชีพ  

ถามว่าการจะเป็นวิชาชีพนักดนตรีบำบัดที่มีใบประกอบโรคศิลป์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีการพิจารณาเพื่อเปิดรองรับให้ขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่  นายณรงค์กล่าวว่า ยัง แต่อาจจะจัดอยู่ในหมวดหมู่ เพราะมิเช่นนั้นจะแตกเป็นวิชาชีพเต็มไปหมด แตกกระจายเป็นรากแก้ว จึงคิดว่าต้องอยู่ในหมวดหมู่ เลยบอกน้องๆ ที่เรียนว่าอย่าเพิ่งน้อยใจที่ยังไม่อยู่ เพราะตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ ต้องเรียนรู้กันก่อน และไม่เห็นด้วยที่จะมีตำแหน่งเล็กๆ เต็มไปหมด แต่น่าจะจัดเป็นหมวดหมู่แล้วไปเริ่มจากตรงนั้น

บุคลากรสาธารณสุขเรียนต่อ นักดนตรีบำบัด ต้องมีพื้นฐานเล่นดนตรีได้ดี

ถามว่าสามารถให้บุคลากรสาธารณสุขมาเรียนต่อได้หรือไม่  นายณรงค์กล่าวว่า เขาจะต้องเล่นดนตรีได้ดีในระดับที่เล่นแล้วสบาย สามารถคุยกับคนไข้ไปด้วยได้ ไม่ใช่มองคอร์ด แล้วไม่สามารถสังเกตคนอื่นหรือผู้ป่วยได้ ดนตรีเหมือนภาษาพูด ถ้าเล่นได้ระดับหนึ่งที่ทำแบบนี้ได้ ก็สามารถเทรนหรืออบรมเขา ตรงนี้จึงเป็นข้อยาก เพราะมีหลายสถานประกอบการอย่างเนอร์สซิ่งโฮมติดต่อมา อยากเอาพยาบาลหรือ Care Giver มาอบรม แต่ทุกคนเล่นดนตรีไม่เป็นเลย พอมาแค่หัดดนตรีก็เหนื่อยแล้ว ยังไม่ทันต้องไปเรียนอย่างอื่น ก็เลยจะมีข้อจำกัด แต่ถ้าเล่นได้มีพื้นฐานอยู่แล้ว ก็มีหมอหลายคนเอาไปใช้ เพราะเคยเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ก็เอาไปใช้ได้ไม่ยากอะไร

รายละเอียดขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะ สบส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดให้ขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะได้ มีอยู่ 9 สาขา ได้แก่ 1.กิจกรรมบำบัด 2.การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย 3.กายอุปกรณ์ 4.จิตวิทยาคลินิก 5.เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 6.รังสีเทคนิค 7.การแพทย์แผนจีน 8.การกำหนดอาหาร และ 9.ฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งกรณี "นักดนตรีบำบัด" คาดว่าหากจะผลักดันเป็นวิชาชีพที่ใบประกอบโรคศิลป์รับรอง อาจจะต้องเริ่มต้นจากในกลุ่มของนักกิจกรรมบำบัดที่เป็นสาขาดนตรีบำบัด