สปสช. เผย “บัตร ปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่” แล้วกว่า 36 ล้านบาท โดยจ่ายหน่วยบริการนวัตกรรมกว่า 8.5 ล้านบาท ย้ำ สปสช. จ่ายให้ภายใน 3 วัน พร้อมชวนคลินิกเอกชน 4 จังหวัดนำร่อง ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองมากขึ้น

วันที่ 1 ก.พ. 67 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และ นราธิวาส ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จากข้อมูลระหว่างวันที่ 7-25 ม.ค. 2567 มีการให้บริการและเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้แล้ว 36.29 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจากโรงพยาบาล/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (OP Anywhere) 27.73 ล้านบาท และจากหน่วยบริการนวัตกรรม ได้แก่ คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล ร้านยา รวมอีก 8.56 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากแยกรายจังหวัด พบว่า จังหวัดแพร่ มีผู้รับบริการในโครงการนี้ 2,425 ครั้ง รวมเงินที่จ่ายชดเชยค่าบริการ 571,962 บาท แบ่งเป็นโรงพยาบาล/รพ.สต. มีการให้บริการ 1,173 ครั้ง ยอดเบิกจ่าย 228,747 บาท คลินิกเทคนิคการแพทย์ มีการให้บริการ 4 ครั้ง เบิกจ่าย 1,530 บาท คลินิกกายภาพบำบัด มีการให้บริการ 103 ครั้ง เบิกจ่าย 33,600 บาท คลินิกทันตกรรม ให้บริการ 204 ครั้ง เบิกจ่าย 142,800 บาท คลินิกพยาบาล ให้บริการ 13 ครั้ง เบิกจ่าย 2,480 บาท และร้านยา ให้บริการ 928 ครั้ง เบิกจ่าย 162,805 บาท

จังหวัดเพชรบุรี มีผู้รับบริการในโครงการนี้ 5,171 ครั้ง รวมเงินที่จ่ายชดเชยค่าบริการ 1,618,918 บาท แบ่งเป็นโรงพยาบาล/รพ.สต. มีการให้บริการ 4,345 ครั้ง ยอดเบิกจ่าย 1,480,113 บาท คลินิกเทคนิคการแพทย์ มีการให้บริการ 20 ครั้ง เบิกจ่าย 2,150 บาท คลินิกกายภาพบำบัด ยังไม่มีการให้บริการ คลินิกทันตกรรม ให้บริการ 4 ครั้ง เบิกจ่าย 2,800 บาท คลินิกพยาบาล ให้บริการ 646 ครั้ง เบิกจ่าย 108,980 บาท และร้านยา ให้บริการ 156 ครั้ง เบิกจ่าย 24,875 บาท

จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้รับบริการในโครงการนี้ 53,170 ครั้ง รวมเงินที่จ่ายชดเชยค่าบริการ 26,913,894 บาท แบ่งเป็นโรงพยาบาล/รพ.สต. มีการให้บริการ 19,370 ครั้ง ยอดเบิกจ่าย 19,467,790 บาท คลินิกเทคนิคการแพทย์ มีการให้บริการ 1 ครั้ง เบิกจ่าย 60 บาท คลินิกกายภาพบำบัด มีการให้บริการ 277 ครั้ง เบิกจ่าย 90,650 บาท คลินิกทันตกรรม ให้บริการ 379 ครั้ง เบิกจ่าย 265,300 บาท คลินิกพยาบาล ให้บริการ 27,093 ครั้ง เบิกจ่าย 6,050,329 บาท และร้านยา ให้บริการ 6,050 ครั้ง เบิกจ่าย 1,039,765 บาท

จังหวัดนราธิวาส มีผู้รับบริการในโครงการนี้ 15,389 ครั้ง รวมเงินที่จ่ายชดเชยค่าบริการ 7,193,608 บาท แบ่งเป็นโรงพยาบาล/รพ.สต. มีการให้บริการ 11,701 ครั้ง ยอดเบิกจ่าย 6,553,908 บาท คลินิกเทคนิคการแพทย์ ยังไม่มีการให้บริการ คลินิกกายภาพบำบัด มีการให้บริการ 182 ครั้ง เบิกจ่าย 60,900 บาท คลินิกทันตกรรม ยังไม่การให้บริการ คลินิกพยาบาล ให้บริการ 664 ครั้ง เบิกจ่าย 112,540 บาท และร้านยา ให้บริการ 2,842 ครั้ง เบิกจ่าย 466,260 บาท

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. สปสช. มีการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการนวัตกรรมได้จริง จะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับจำนวนการให้บริการที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่า หากหน่วยบริการนวัตกรรมมีการเบิกจ่ายถูกต้อง ข้อมูลครบถ้วน สปสช. ก็สามารถจ่ายเงินให้ได้ภายในเวลา 3 วันทำการหรือ 72 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในช่วงต้นของระบบเป็นการปรับการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยบริการนวัตกรรม และ สปสช. อาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันสามารถรับและส่งข้อมูลกันได้ตามแผน และสามารถจ่ายได้ภายใน 72 ชั่วโมงแล้ว

2.แต่ละจังหวัดมีจำนวนหน่วยบริการนวัตกรรมประเภทต่างๆ แตกต่างกัน เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดมีคลินิกพยาบาลและมีผู้ไปรับบริการมากกว่าจังหวัดอื่นๆ แสดงว่ายังมีพื้นที่ให้คลินิกเอกชนประเภทต่างๆ สามารถเข้ามาร่วมให้บริการแก่ประชาชนได้มากกว่านี้ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ สปสช. สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการนวัตกรรมได้จริงและรวดเร็ว จึงขอเชิญคลินิกเอกชนประเภทต่างๆ ที่ยังลังเลใจ สมัครเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองได้ตลอดเวลา 

“นอกจาก 4 จังหวัดนี้แล้ว ในเดือนมีนาคมทางกระทรวงสาธารณสุขจะขยายพื้นที่นำร่องเพิ่มอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสระแก้ว และในเดือนเมษายนจะขยายพื้นที่เป็น 4 เขตสุขภาพ คือเขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 ดังนั้น สปสช.ขอเชิญชวนคลินิกเอกชนและร้านยาที่สนใจ สามารถสมัครเข้ามาเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมของ สปสช. เพื่อให้บริการแก่ประชาชนไปด้วยกัน” โฆษก สปสช. กล่าว