สธ.เผยปี 67 แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง วางมาตรการรับมือสู้เข้มข้น ล่าสุดเผย 10 จังหวัดสีแดง 44 จังหวัดสีส้ม กระทบสุขภาพ อึ้งตัวเลขพุ่งกว่า 59% ขณะที่ กทม.จมฝุ่นนานกว่า 2 เดือน
ปี 67 แนวโน้มฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง! สธ.วางมาตรการรับมือสู้
เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า มาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เป็นการแก้ปัญหาให้ปลายเหตุเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หัวใจและหลอดเลือด ในปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) กว่า 58 จังหวัด ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน มีมากกว่า 56 ล้านคน และในปี 2567 ก็มีแนวโน้มว่าฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสื่อสาร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง การจัดทำห้องปลอดฝุ่น(Clean Room) ในชุมชน ตั้งเป้าหมายให้มีห้องปลอดฝุ่นทุกอำเภอ จัดบริการคลินิกมลพิษ 90 แห่ง ทั่วประเทศ
จัดห้องปลอดฝุ่น (Cleanroom) 2,053 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2566 เพราะคาดว่า PM 2.5 จะมีปัญหามากขึ้น และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัดเปิด EOCเช่นกัน โดยขณะนี้มีพื้นที่เสี่ยง 30 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งได้จัดทำห้องปลอดฝุ่น (Cleanroom) ทั้งหมด 2,053 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 33,000 คน แบ่งเป็นรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 42 แห่ง รวม661 ห้อง รพ.ชุมชน 283 แห่ง รวม 1,392 ห้อง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีห้องปลอดฝุ่นของหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต รวม 509 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 12,000 คน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อเข้ารับบริการหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
ระวัง! ฝุ่นพิษ พื้นที่สีแดง 10 จังหวัด
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปี 2566 สถานการณ์ PM2.5 มีปัญหามากในช่วง 5 เดือน และปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาแทบทุกพื้นที่ ทั้งสูงขึ้น และเข้มข้นขึ้น จากปรากฎการณ์เอลนิญโญที่ทำให้ฝนน้อยลง ความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้ไฟป่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนก.ย.2566 - ปัจจุบัน พบค่า PM2.5 เกินมาตรฐานหรือสีส้มใน 44 จังหวัด และอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ สีแดง 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร หนองคาย อ่างทอง สุโขทัย พิษณุโลก กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และสมุทรสงคราม โดยสถานการณ์ล่าสุด วันที่ 25 ม.ค. 2567 พบว่าเกินมาตรฐานทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลางและตะวันตกภาคตะวันออก และภาคเหนือ
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เข้มข้นขึ้น 4 มาตรการ ได้แก่ 1. ส่งเสริมการลดมลพิษ/สื่อสารสร้างความรอบรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ 3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในระบบบัญชาการเหตุการณ์ และส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้เปิดศูนย์เฝ้าระวังเพื่อสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ ประสานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลประชาชน
เฝ้าระวัง 5 กลุ่มเสี่ยง หวั่นรับผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ
นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากฐานข้อมูล Health Data Center กรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังสุขภาพ 5 กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการกำเริบ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบ 279,474 ราย โรคหืดเฉียบพลัน 20,052 ราย โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 5,265 ราย และประชาชนทั่วไปที่รับสัมผัสฝุ่น PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคตาอักเสบ หรือโรคผิวหนังอักเสบ ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำ หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลดการก่อ PM2.5 อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หมั่นเช็คสภาพรถยนต์ ใช้บริการรถสาธารณะ ไม่เผาป่า หรือเผาขยะในครัวเรือน ลดการจุดธูป เทียน
อาการจากฝุ่น PM2.5 พบมากกว่า 59% อาการคัดจมูก มีน้ำมูก ไอแห้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารข้อมูลประกอบการแถลงข่าว ได้สรุปตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 พบมากกว่า 59% เช่น มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ไอแห้ง มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด 39.4 % มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดง มองภาพไม่ชัด 23.6% แสบจมูก แสบคอเลือดกำเดาไหล เสียงแหบ 20.5% คันตามร่างกาย มีผื่น 9.8% เท้าบวม หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย 6.7% ส่วนภาพรวมจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก คือ กรุงเทพ มีจำนวนวันที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 78 วัน สมุทรสาคร 66 วัน สมุทรปราการ 62 วัน ราชบุรี 48 วัน อ่างทอง 45 วัน พิษณุโลก 38 วัน นครปฐม 38 วัน หนองคาย 36 วัน กาญจนบุรี 37 วัน สุโขทัย 36 วัน อุทัยธานี 35 วัน
- 1610 views