ผู้เชี่ยวชาญเผยบริษัทบุหรี่อยู่เบื้องหลังแผนล้มกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าในไทย แนะอย่าซ้ำรอยฟิลิปปินส์ อินโดฯ เจอปัญหาเด็กสูบพุ่งหลังเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ควรเอาสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ลดการเข้าถึงของเด็กได้จริง ขณะที่ไทยพบปัญหาโปรโมทผ่านโซเชียลฯ ยิ่งทำระบาดกว้าง ชงเพิ่มอายุซื้อบุหรี่เป็น 21 ปี หนุนทำวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 23 มกราคม ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดงานเสวนา “เจาะลึก……เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย” ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ หลังการสำรวจล่าสุดพบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยสูงถึง 17.6% หรือเพิ่ม 5.3 เท่าระหว่างปี 2558-2565
เครือข่ายครูป้องเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้า
ครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เผยว่าปัจจุบันสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะพบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ซ้ำพบมีการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ครูบางคนยังไม่รู้จัก ขาดความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจึงไม่ห้ามให้เด็กสูบ
“กรณีมีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนมาควบคุมโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็ก เครือข่ายครูฯ เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นสิ่งที่บิดเบือนจากความจริง เพราะหากยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย เพราะเข้าใจว่าเมื่อถูกกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ซ้ำจะยิ่งทำให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นทั้งร้านค้าใต้ดินและบนดิน ดังนั้นเครือข่ายครูฯ จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะคงมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่เพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งให้ความรู้กับเด็ก ครู และผู้ปกครอง” ครูสุวิมลกล่าว
(ข่าว : สัญญาณอันตราย! เด็กไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" สูง 17.6% ผู้หญิงสูบเพิ่ม! เข้มมาตรการเร่งด่วน)
ชงรัฐเข้มมาตรการ ทำเป็นวาระแห่งชาติ
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลกและอาเซียน เพราะการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่สวยงาม ทำให้เข้าถึงง่าย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง สำหรับประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า พบโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าใน TIKTOK ว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ 98% ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทั้งบรูไน ไทย ลาว สิงคโปร์ ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และผู้ปกครองไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
สำหรับประเทศในอาเซียนที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า อย่าง "สิงคโปร์" เพราะบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กจากนิโคติน และเป็นประตูสู่ยาเสพติดอื่นๆ ไม่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ โดยมีกฎมายควบคุมเข้มงวดและมีค่าปรับสูง ควบคู่การรณรงค์เข้มแข็งเข้าถึงทุกกลุ่ม และมีเอกภาพในการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนรณรงค์ 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้ถึงอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพสิงคโปร์ทำแคมเปญช่องทางดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงโซเชียลฯ อย่าง TIKTOK และ IG มีการอบรมครู นักเรียนที่ถูกจับมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองจะเข้าคอร์สเลิกบุหรี่ มีการจัดการกับร้านขายออนไลน์
ส่วนอินโดนีเซีย ทำให้ถูกกฎหมาย แต่ควบคุมไม่ได้แล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์กว่า 16,376 ร้าน ขณะที่ทั่วโลกมี 45 ประเทศที่ห้ามเด็ดขาด แต่จากบทเรียนประเทศอาเซียน ภาคธุรกิจรุกหนักมากในการที่จะให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ อ้างว่ารัฐบาลจะได้เก็บภาษี ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ คือประเทศที่ห้ามขายอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ควรห้ามการปรุงแต่งรสชาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี และรัฐต้องมีมาตรการและเข้มงวดดูแลไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย โดยมองว่าต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะให้นักวิชาการเคลื่อนไหวอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าที่หลักอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องสกัดเรื่องการขายออนไลน์ เพราะการโปรโมททางโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยเราถือว่าเป็นแถวหน้าในการมีมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับสิงคโปร์ แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องปรับปรุง
เบื้องลึก เบื้องหลัง ความเคลื่อนไหวให้เปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทย
ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในหัวข้อเบื้องลึก เบื้องหลัง ความเคลื่อนไหวให้เปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ว่า บริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นอย่างหนัก เพื่อต้องการให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ โดยเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะยกอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยโดยนักข่าวสายสืบสวนของ Time of London ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษอาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพทย์และนักวิชาการอังกฤษที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับบริษัทบุหรี่ เช่น ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและเบี่ยงเบนผลกระทบต่อเด็ก ล็อบบี้นักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษ สนับสนุนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้อ้างเรื่องสิทธิการสูบ และโจมตีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำรอยกับที่อังกฤษโดยเฉพาะ พบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรให้คุณค่ากับคนกลุ่มนี้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
อ่านเพิ่มเติม : “หมอประกิต” โต้กลับหมอ อดีตสส. ปมกม.นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ด้าน สสส.ไม่หนุนสิ่งทำลายสุขภาพ
- 284 views