สว.อำพล ขอบคุณ “หมอชลน่าน” ก่อนถามแนวทางส่งเสริมการมีบุตร  ชี้เป็นรมว.ที่ให้ความสำคัญมาตอบกระทู้เองในวุฒิสภา   ด้าน รมว.สธ. ชี้ส่งเสริมการเกิดเป็นวาระแห่งชาติ ยอมรับท้าทาย แต่ต้องทำปรับทัศนคติคนรุ่นใหม่ต่อการมีลูก  พร้อมแก้ปัญหาลดการทำแท้งจาก 3 หมื่นรายต่อปีให้เหลือ 1 หมื่นราย

 

สว.หวั่นหากพ้นรัฐบาลแล้วแนวทางส่งเสริมมีลูกไม่ชัด อาจไม่เห็นผลสัมฤทธิ์

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา  นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงนโยบายการส่งเสริมการมีบุตร ว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เสนาบดีที่มาจากรากหญ้า ท่านให้เกียรติมาตอบกระทู้ ซึ่งเรามีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ประชุมที่แล้ว ปลายสมัยจนถึงสมัยนี้ กระทู้ในวุฒิสภาที่ตั้งถามรัฐบาลใหม่ มีรัฐมนตรีมาตอบน้อย ถึงน้อยมาก ซึ่งรมว.ชลน่าน มาตอบทุกครั้ง ถ้าจำไม่ผิดครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง จึงต้องขอขอบคุณอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับกระทู้นี้จะเป็นเรื่องการส่งเสริมการมีบุตร เพราะเราทราบดีแล้วว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 20% จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า

นพ.อำพล กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณานโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2567 มีประเด็นการส่งเสริมการมีบุตร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทายของกระทรวงฯ และรมว.ชลน่าน หยิบเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย จึงขอถามกระทู้ 5 ข้อ คือ 1.สาระสำคัญของนโยบาย 2.ทางเลือกของนโยบาย เพราะเขียนสั้นมาก ยังไม่เห็นรายละเอียด  3.เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่คาดเวลาใด ซึ่งเราก็ติดตามช่องทางสื่อต่างๆ ยังไม่เห็นชัดเจน  4.แผนการดำเนินงาน มีแผน 3 เดือน 6 เดือน  1 ปีจะทำอย่างไรบ้าง  และ5.ปัญหาอุปสรรคที่คาดและการแก้ไข สิ่งที่กังวลคือ หากตรงนี้ไม่ชัดเจน หากท่านพ้นรัฐบาลไปแล้ว นโยบายนี้อาจไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ แต่เราเชียร์ เพราะเรื่องนี้สำคัญมาก

ที่มา ‘ส่งเสริมมีลูก’ หากไม่ทำอีก 60 ปีข้างหน้าคนไทยจะเหลือ 33 ล้านคน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการตอบกระทู้ประเด็นส่งเสริมการมีบุตร ว่า เรามีข้อมูลการศึกษาวิจัยรองรับกรณีปัญหาเด็กเกิดน้อย อย่างเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ และเกิดน้อยกว่าอัตราตาย อย่างเดิมเกิด 1 ล้านคน/ปี เหลือไม่ถึง 5 แสนคน/ปี อย่างปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราเกิด 480,000 คน ที่สำคัญยังพบปัญหาเกิดไม่พร้อม นโยบายของเราจึงจะมาตอบปัญหา ว่า จะทำอย่างไรให้โครงสร้างประชากร มีความสมบูรณ์ มีสัดส่วนเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น อย่างมีการคาดการณ์ว่าหากไม่ทำอะไร ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ประชากรในประเทศไทยจะเหลือ 33 ล้านคน และจะมีวัยแรงงานเพียง 14 ล้านคน และ 18 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุ ส่วนเด็กเกิดใหม่จากปัจจุบัน 10 ล้าน จะเหลือ 1 ล้านคน

ดังนั้น เราต้องเพิ่มอัตราการเกิดอย่างมีคุณภาพ สิ่งสำคัญคือ 1.การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเกิด ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย การสร้างสถานที่เป็นมิตร ทั้งบ้าน ครอบครัว ค่าใช้จ่าย มิติเศรษฐกิจต่างๆ เรื่องของการดูแลเด็กตั้งแต่ก่อนท้อง ขณะท้อง ขณะคลอด และหลังคลอด โดยเฉพาะ 2 ปีแรก เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดมามีความปลอดภัย ซึ่งเรายังมีการคัดกรองเด็ก จากเดิมคัดกรองโรค 24 กลุ่มโรค ตอนนี้เพิ่มเป็น 40 กลุ่มโรค ไม่ว่าจะเกิดจากเมตาบอลิสซึม หรือความพิการทางพันธุกรรม เราสร้างปัจจัยเพื่อให้ตัดสินใจมีบุตรได้

ส่งเสริมมีลูก พร้อมแก้ปัญหาทำแท้ง

2.สร้างเจตคติหรือทัศนคติที่ดีต่อการมีบุตร หรือการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว กลุ่มเจนวาย เจนเอ็กซ์ ที่อาจมีทัศนคติไม่ดีต่อการมีบุตร 3.สนับสนุนให้ตัดสินใจผู้ที่มีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจร อย่างปัญหามีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตสมวัย การให้ทางเลือกผู้ที่ท้องไม่พร้อม แทนจะไปทำแท้งปีละ 3 หมื่นราย ให้ลดการทำแท้งเหลือ 1 หมื่นราย ก็จะมีเด็กเกิดใหม่ และต้องมีความพร้อมในการดูแล

ส่วนคำถามที่ 2 เกี่ยวกับทางเลือกเชิงนโยบายนั้น เรามั่นใจว่าจะตอบโจทย์ปัญหาของประเทศไทย โดยจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

คำถามที่ 3 เรื่องเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์นั้น เรามีเป้าหมาย อย่างอัตราเจริญพันธุ์โดยรวมของประเทศไทยแค่ 1.08 แต่ตัวเลขเหมาะสมคือ 2.1 ต่อแสนประชากร จึงใช้ตัวนี้เป็นแนวทาง อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2566-2570 หากรักษาอัตราเจริญพันธุ์โดยรวม หรือ TFR (ระดับภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศวัดจากอัตราเจริญพันธุ์รวมยอด) ไม่น้อยกว่า 1.0 เป็นการรักษาสภาพ หากไม่ทำจะลดต่ำอีก ดังนั้น เราตั้งเป้าต้องรักษา และพยายามขับเคลื่อนให้ภายในปี 2585 สามารถรักษา TFR ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5

ส่วนผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับ แบ่งเป็นระดับประเทศ ระดับสังคม และระดับประชาชน  โดยระดับประชาชนนั้น จะเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่ทุกคนต้องได้รับ ซึ่งเรามีคณะกรรมการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นชุดที่เสนอเรื่องนี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการ การดูแลบุตร การคลอดบุตร การส่งเสริมความพร้อมคู่หนุ่มสาวที่พร้อมมีบุตร การดูแลเมื่อคลอดออกมา โดยเฉพาะช่วง 2 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเรามีประสบการณ์ตรงนี้ ซึ่งจะจัดทำเป็นแผนออกมา เป็นต้น 

ระดับสังคม นโยบายนี้เราหวังให้สังคมมีทัศนคติที่ดีในการดำรงเผ่าพันธุ์ตนเอง สร้างการมีส่วนร่วม มีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ เป็นต้น และระดับประเทศ เป็นการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เกิดความมั่นคงเป็นต้น

เสนอครม.หากประกาศเป็นวาระแห่งชาติพร้อมออกแผน 5 ปี

คำถามที่ 4 เรื่องมีแผนดำเนินการอย่างไรนั้น ระเบียบร่างวาระแห่งชาติได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ซึ่งหากประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเบื้องต้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายควิกวิน 100 วัน เป็นการประสบชัยชนะเบื้องต้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การประชุมพิจารณาร่างระเบียบวาระแห่งชาติช่วงเดือนธันวาคม 2566 จากนั้นเสนอครม. เมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติก็จะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุรภาพระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570  ส่วนกลไกขับเคลื่อนจะมีคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ โดยจะมีแผนปฏิบัติการส่วนราชการแต่ละกระทรวงรองรับ ซึ่งการทำงานจะบูรณาการร่วมกัน และรายงานความก้าวหน้าต่อครม.

คำถามที่ 5 เรื่องปัญหาอุปสรรคนั้น ต้องขอตอบว่า เป็นเรื่องท้าทาย ทั้งค่านิยมการมีคู่และมีบุตรเปลี่ยนไป การมีลูกคนยุคนี้ไม่ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญ ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต นี่คือความท้าทายมาก จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมด้านการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่ โดยมีแนวทางในการสื่อสารว่า การเกิด คือ การให้ที่ทรงคุณค่าที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนใจประเด็นนี้มาก เพราะปัจจุบันมี 23 ประเทศที่มีปัญหาและอาจจะนำสู่เวทีนานาชาติเพื่อพูดคุยกัน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีแผนดำเนินการแต่ละระยะ มีงบประมาณชัดเจน และต้องสื่อสารทำความเข้าใจทุกภาคส่วนวัน

ข่าวเกี่ยวข้อง : ‘ชลน่าน’ ตอบกระทู้สว.กรณีตั้งกรมทันตกรรม เผยมีแผนดำเนินงาน ที่สำคัญกำลังร่างกม.แยกตัวออกจาก ก.พ.

ขอบคุณภาพจากกลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ วุฒิสภา