“ชลน่าน” มอบกรมควบคุมโรคติดตามภาวะลองโควิด และผลกระทบจากวัคซีน ส่วนกรณี “ลองวัคซีน”ที่อ.ธีระวัฒน์ จุฬาฯเปิดเผยนั้น แม้ไม่ออกแถลงการณ์ ทางสธ.ก็ติดตามตลอด ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีข้อมูลระยะยาว ขณะที่ WHO ให้คำแนะนำฉีดวัคซีนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ด้าน “หมอธีระวัฒน์” เผยไม่ได้ต้องการต่อต้านวัคซีน เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตชนิด mRNA ซึ่งอาการจะเหมือนลองโควิด แต่เรียกว่าลองวัคซีน เพราะมี 3 ระยะ

 

เมื่อวันที่ 15 มกราคม  ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ตามที่ อ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต ออกแถลงการณ์ผลกระทบวัคซีนและภาวะลองโควิด19 และต้องการให้รัฐติดตามเรื่องนี้ ว่า  การติดตามเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณะสุขอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่มีการออกแถลงการณ์ใดๆ ก็เป็นเรื่องที่ สธ. ต้องรับผิดชอบในการดูแลมิติสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ผลกระทบจากการให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดโดยมีกรมควบคุมโรครับผิดชอบเรื่องนี้อยู่

เมื่อถามว่าขณะนี้มีรายงานเรื่องผลกระทบของวัคซีนโควิด-19 ในลักษณะของ “ลองวัคซีน” หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานปัญหาเข้ามา แต่อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเรื่องนี้ จะต้องเฝ้าดูต่อไป ซึ่งเรื่องนี้กรมควบคุมโรคติดตามอยู่

ถามต่อว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีคำแนะนำต่อการฉีดวัคซีนอย่างไร และทาง สธ. จำเป็นต้องชะลอการฉีดวัคซีน mRNA ไปก่อนหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น คำแนะนำของ สธ. ยังยึดแนวปฏิบัติเดิมคือ แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีนโควิด เพราะยังไม่มีหลักฐานให้ชัดเจนที่จะมาใช้เป็นข้อมูลได้ว่าไม่ต้องมารับวัคซีน ส่วนเรื่องที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เสนอให้ สธ. มีการศึกษาเรื่องนี้ เราก็จะนำมาพิจารณาในกรรมการที่เกี่ยวข้องในทุกฝ่ายของกระทรวง

 

วันเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า ตนขอเรียนว่าความร่วมมือดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นการต่อต้านวัคซีนใดๆ ทั้งสิ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการเชิงสร้างสรรค์ให้ประชาชนทราบข้อมูลจริงถึงผลกระทบจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะชนิด mRNA เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นขณะนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เริ่มพบกลุ่มอาการต่างๆ   ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้มีโรคประจำตัว เช่น อาการเหนื่อย นอนไม่หลับ สู้งานไม่ได้ ใจเต้นเร็ว ตื่นแล้วหัวใจเต้นเร็ว มีผื่น ผมร่วง เกิดตุ่มตามผิวหนัง

 

“นอกจากนี้ ยังพบโรคไม่ค่อยเจอบ่อยในผู้ที่มีอายุน้อย 20-30 ปี เช่น เริม งูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ทั้งหมดนี้ เป็นความผิดปกติจากที่ทางการแพทย์เคยเจอโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการอยู่แล้ว ก็เป็นมากขึ้น หรือกลุ่มที่ควบคุมอาการได้ดีแล้วกลับพบว่ามีอาการพัฒนาเร็วขึ้นหลังจากรับวัคซีนมา เช่น สมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน และมีการเกิดโรคใหม่ขึ้น เช่น โรคสมองอักเสบ โรคเส้นเอ็นเนื้อเยื่อพังพืดอักเสบ และยังปัญหาด้านความจำ สติปัญญา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวต่อว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังรับวัคซีนนั้นเหมือนกับลองโควิดทุกประการ แต่เราเรียกว่า “ลองวัคซีน” ซึ่งขณะนี้จะพุ่งเป้าไปไปที่วัคซีนชนิด mRNA ที่มีการใช้อนุภาคไขมันเป็นส่วนผสมในวัคซีน โดยทางบริษัทผู้ผลิตแจ้งข้อมูลว่าอนุภาคไขมันดังกล่าวจะอยู่ในกล้ามเนื้อต้นแขนที่ฉีดวัคซีนเพียง 2-3 วัน แต่เมื่อมีดูข้อมูลจริงกลับพบว่า อนุภาคไขมันอยู่ในร่างกายได้เป็นเดือน นอกจากนั้นยังสามารถแทรกซึมเข้าไปในเซลล์เนื้อเยื่อตามอวัยวะต่างๆ เพื่อรอสร้างโปรตีนหนามขึ้นที่ผิวเซลล์ ทำให้ร่างกายเรามองเห็นไวรัสได้ ซึ่งตรงนี้เองทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเหมือนการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่

“ภาวะลองวัคซีนมี 3 ระยะ แต่ย้ำว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน โดยระยะแรก เกิดหลังรับวัคซีน 2-3 วัน เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน หรือลอยไปอุดเส้นเลือดในปอด หัวใจหยุดเต้น ระยะกลาง เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือน ที่จะเป็นอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยอาการเหล่านั้นจะทอดยาวไปจนถึงระยะปลาย ที่เกิดขึ้นหลัง 3 เดือนหลังรับวัคซีน ซึ่งอาการทุกอย่างจะเหมือนอาการลองโควิด-19 ทุกประการ ตรงนี้เองสามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า วัคซีนชนิด mRNA ที่เราได้รับนั้น มีโปรตีนหนาม หรือ สไปก์ (spike protein) ที่ทำร้ายมนุษย์ได้เหมือนกับที่ไวรัสทำ ดังนั้น การใช้โปรตีนหนามมาทำวัคซีน แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน กลับมีการเบี่ยงเบนให้เป็นการอักเสบของร่างกาย คล้ายกับการติดเชื้อโควิด-19” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สิ่งที่ตนได้ทำความร่วมมือกับ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อศึกษาเรื่องสมุนไพรไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการเอามารักษาภาวะลองวัคซีนและลองโควิด-19 เพราะ ยาแผนปัจจุบันเอาไม่อยู่  จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาในสมุนไพรไทยเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร และไม่ให้มีการด้อยค่าสมุนไพรไทย อย่างไรก็ตาม ตนอยากแนะนำให้ทางกระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลในการใช้วัคซีนชนิด mRNA ดูว่าเกิดผลกระทบอย่างไรในคนไทย ก่อนที่จะมีการแนะนำให้ฉีดในทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เนื่องจากทั่วโลกต่างศึกษาเรื่องนี้กัน และประเมินว่าการรับวัคซีน mRNA นั้น มีความเกี่ยวข้องการการเสียชีวิตของประชาชนที่สูงขึ้นโดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุของโรคได้

เมื่อถามย้ำว่า เป็นการประเมินเจาะจงเฉพาะวัคซีน mRNA หรือไม่ หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ ด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า วัคซีน mRNA เป็นที่เราจับตามาก แต่วัคซีนอื่นเช่น ชนิดเชื้อตาย อนุภาคไขมันจะอยู่ในตำแหน่งที่ฉีดเท่านั้นเอง ไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปร่างกายได้ ซึ่งต่างจากชนิด mRNA ที่เข้าไปในทุกระบบของร่างกาน ส่วนชนิดไวรัลเวกเตอร์ หลายประเทศเลิกฉีดแล้วเพราะเกิดผลระยะสั้น และระยะกลาง

ข่าวอื่นๆเกี่ยวข้อง : สถาบันวัคซีนฯโต้กลับข้อมูลผลกระทบวัคซีนและภาวะลองโควิด ชี้ทำคนเข้าใจคลาดเคลี่อน