รมว.สาธารณสุข เตรียมงบฯรองรับ “30 บาทรักษาทุกที่”ทุกจังหวัด เล็งขยายประกันสังคม จ่อมอบ สปสช.เคลียริ่งเฮาส์ ด้านรพ.ชะอำ ยันลดภาระงานห้องยา
เมื่อวันที่ 13 มกราคม เป็นชน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่โรงพยาบาลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจผลการดำเนินการโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งคิกออฟไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม2566 ใน 4 จังหวัดนำร่อง มีจ.เพชรบุรี แพร่ ร้อยเอ็ดและนราธิวาส ว่า
ยังมีคอขวดกรณีคนไม่ยืนยันตัวตนก่อน
สิ่งที่เห็นวันนี้คือ สร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงบริการของผู้มารับบริการ ให้ง่ายและมีคุณภาพมาตรฐาน ใช้บัตรประชาชนใบเดียวมาแสดงตัวตนเข้ารับการรักษาได้เลย โดยผู้ที่แสดงตัวตนตัวเองมี Health ID พร้อมแล้วจะง่าย แต่หากเป็นรายใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบก่อนให้มี Health ID ก่อน ตรงนี้จะเป็นจุดช้า
"ในมุมคนกำกับนโยบาย เราให้คะแนนมากกว่า 80 หลังเปิดแล้วยังไม่มีเสียงว่าไม่มีความพึงพอใจ แต่อาจมีปัญหาเล็กน้อย เช่น ผู้มารับบริการยังไม่ได้แสดงตัวตน เป็นคอขวดทำให้ช้า 20% เราก็หักตรงนี้ แต่เราไม่ได้โทษผู้ให้บริการ โทษเชิงระบบต้องไปปรับแก้ไม่ให้เป็นคอขวด" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนเรื่องการใช้สิทธิข้ามเขตที่เป็นคำถามมาก รพ.ชะอำแสดงตัวเลขว่าเพิ่ม 4-5% ก็ถือว่าปกติ ซึ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า 50% คือ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานที่นี่ แต่เป็นการเพิ่มด้วยความจำเป็น เพราะแม้อยู่ต่างถิ่นแต่ก็มีการทำงานในบริเวณพื้นที่นี้ ตรงนี้เรารับได้ เพราะเป็นเจตจำนงของเราอยู่แล้ว สิทธิอื่นก็เริ่มมาใช้บริการ รพ.ชะอำ เป็นเครือข่ายของประกันสังคม เลยไม่มีปัญหา สามารถผสมผสานการบริการได้ ใช้บัตรประชาชนยืนยันก็ใช้สิทธิประกันสังคม รพ.ก็เบิกจ่ายได้ ภาพเหล่านี้จะขยายให้กว้างขึ้นทุกสิทธิเข้าถึงการบริการสะดวกแบบนี้ได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันแต่ละสิทธิ
ประชากรแฝงใช้สิทธิด้วย
"รพ.ชะอำเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของประชากรแฝง ซึ่งชะอำมีประชากรประมาณ 6 หมื่นคน มีประชากรแฝงรวมประมาณแสนคน มีคนต่างถิ่น ต่างจังหวัดมาใช้บริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเช่นกัน ไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน ประชากรแฝงที่นี่ที่มาทำงานทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิอื่น ใกล้ที่นี่สะดวกก็มาที่นี่เลย เป็นการบอกเชิงการเข้าถึงที่เป็นธรรมทั่วถึง" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นอกจากผู้มารับบริการที่แสดงตัวตน Health ID แล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องยืนยันตัวตนด้วย คือ Provider ID เป็นระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพราะมีสิทธิเข้าดูประวัติรักษาพยาบาลได้ รพ.ชะอำทำได้เกือบครอบคลุมแล้ว อย่างแพทย์ได้เกือบ 70% แล้ว ทั้งนี้ เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลทั้งส่วนบุคคลหรือระบบ ชั้นความลับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เราวางระบบไว้ โดยทำตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA คือ วางระบบเปิดปิด เช่น ผู้มารับบริการประสงค์ไม่เปิดเผยข้อมูลก็ปิดในแอปพลิเคชันที่ตัวเองมีอยู่ในหมอพร้อม หรือใน Personal Health Record (PHR) ที่มีอยู่ ก็ไม่มีคนเข้าถึงได้ เว้นแต่อนุญาต เช่น มาเจอหมออนุญาตโดยเสียบบัตรประชาชนเปิดให้ หมอก็ดูได้ ผู้ให้บริการก็เช่นกันสามารถป้องกันข้อมูลตัวเองได้ ในเชิงระบบเราวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน
งบ 300 ล้านบัตรทอง 4 จังหวัด มีงบเพิ่มเฟสต่อไป
ถามถึงงบประมาณกว่า 300 ล้านบาทสนับสนุนการเดินหน้าใน 4 จังหวัด และอนาคตจะเพิ่มงบประมาณเพื่อรองรับหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า การจะทำให้สำเร็จได้ ปัจจัยนอกจากบุคลากร ความพร้อมเชิงระบบแล้ว เรื่องงบประมาณก็สำคัญ อย่างปีนี้เป็นปีเริ่ม ซึ่งงบประมาณที่เสนอในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 เฉพาะโครงการบัตรประชาชนรักษาทุกที่ที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีในแผนเบิกจ่ายงบประมาณ เสนอรวม 6,200 กว่าล้านบาท ส่วนที่เป็นแผนงานโครงการที่เสมือนเดิม เช่น มะเร็งครบวงจร ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อยู่ในแผนงานเดิม ก็ใช้งบประมาณไปพลางก่อนของงบปี 2566 ได้ และงบประมาณกองทุนบัตรทองปี 2568 ที่กำลังเข้าสู่สภา เราขอไป 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบภาพรวมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ถามว่าหากครอบคลุมทุกจังหวัดสามารถหางบมาเติมได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปลัด สธ.และผู้บริหาร สธ.ได้เตรียมมาตลอด โครงสร้างพื้นฐานพวกครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ วางไว้หมดแล้ว ตอนแรกตนกังวลว่าใช้งบสูงมาก แต่วางไว้เกือบทุก รพ.แล้ว เราเลยกล้าประกาศเป็นสมาร์ทฮอสปิทัล สิง่ที่ต้องเติ่มเต็มคือซอฟต์แวร์ เครื่องมือป้องกันความปลอดภัย การอบรมเทรนนิ่งเพิ่มเรื่องเทเลเมด เทเลฟาร์มาซี อสม. ค่าใช้จ่ายในการฝึก อสม.เป้นสมาร์ท อสม. เรามีแล้ว 40%
เล็งขยายบัตรประชาชนใบเดียวไปประกันสังคม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในอนาคตสามารถขยายไปยังสิทธิอื่นๆ อย่างประกันสังคม เรากำลังพูดคุยกันอยู่ เพราะเรามุ่งหวังว่า ทุกสิทธิควรได้รับความสะดวกเหมือนกัน จะคล้ายๆกับโครงการUCEP อุบัติเหตุฉุกเฉินวิกฤติรักษาได้ทุกที่ เอาแนวคิดนี้มาคุยกันว่าน่าจะเป็นไปได้ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ก็อาจต้องไปแก้กฏระเบียบให้สถานพยาบาลในเครือข่ายของประกันสังคมใช้ที่ไหนในเครือข่ายได้เช่นเดียวกันเหมือนการใช้บัตรประชาชนใบเดียวของบัตรทอง ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่
“สำหรับการเบิกจ่ายเงินนั้น ทำได้แค่ 2 ทาง คือ 1.เบิกตรงกับประกันสังคม หรือ2.หากสปส.ไม่อยากตามจ่ายทุกสถานบริการ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีหน้าที่จ่ายแทนก่อนและไปเคลมต่อ ที่เรียกว่า เคลียริ่งเฮาส์ ก็เป็นอีกทางเลือกได้“ นพ.ชลน่าน กล่าว
ลดภาระงานห้องบัตร
ผู้สื่อข่าวถามถึงการลดภาระงานจากโครงการดังกล่าว นพ.ประกาศิต ชมชื่น ผอ.รพ.ชะอำ กล่าวว่า ที่ลดเยอะคือส่งยา เพราะคนไข้ไม่ต้องรอรับที่ห้องยา ระยะเวลารอคอยก็ไม่มี ก็ไปรอที่บ้าน ก็ลดเวลารอคอยคนไข้ด้วย ส่วนอื่นก็จะค่อยๆ ปรับไปเพราะเพิ่งเริ่ม ส่วนอนาคตห้องบัตรหรืออะไรที่เป็นเอกสารก็จะน้อยลง
ถามว่า รพ.ชะอำ สามารถลดเวลารอคอยการรักษาลงมากน้อยแค่ไหน นพ.ประกาศิตกล่าวว่า เมื่อก่อน รพ.ชะอำอาจจะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก็เหลือ 1-2 ชั่วโมง เพื่อกลับได้ช่วงเช้าไม่ต้องถึงบ่าย
- 886 views