กรมการแพทย์แผนไทยฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขับเคลื่อนนโยบาย“นักท่องเที่ยวปลอดภัย” อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ พร้อมหนุนร้านนวด สปา มีมาตรฐาน เพื่อให้บริการสร้างความประทับใจ กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวันหยุด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข ได้มอบหมายผู้บริหารกระทรวง และผู้บริหารกรมต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข นำคณะลงตรวจเยี่ยม อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามจุดต่าง ๆ ตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย Safety Tourist ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ มอบหมายให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตรวจเยี่ยมตามจุดสำคัญ อาทิ
จุดที่ 1. ด่านสามแยกน้ำพุร้อน ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
จุดที่ 2 ศูนย์การเรียนรู้แม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
จุดที่ 3 จุดชมวิวกิ่วฝิ่น อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง
จุดที่ 4 วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบ้านวังธาร
จุดที่ 5 โรงพยาบาลนครพิงค์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
จุดที่ 6 ฟ้าลานนาสปา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการขับเคลื่อนตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย Safety Tourist ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว) ได้กำหนดประเด็นขับเคลื่อนนโยบายตามถ้อยแถลงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตามยุทธศาสตร์ สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ ประเด็นที่ 13 “นักท่องเที่ยวปลอดภัย” โดยกำหนดกลยุทธ์ ที่สำคัญ ได้แก่
1) การยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารในเส้นทางท่องเที่ยว
2)การยกระดับระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์
3) การพัฒนาด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ
4) พัฒนาการบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศหรือ Sky Doctor
เทศกาลปีใหม่ ทุกภาคของประเทศจะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวกันคึกคัก ในจังหวัดเชียงใหม่เองนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศนิยมเดินทางซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดท่องเที่ยว หรือแม้แต่ร้านนวด ร้านสปา ที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านการบริการ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคกำหนดเกณฑ์มาตราฐานเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ ทำให้เกิดการรับรอง “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” (Thainess Wellness Destination :TWD) ซึ่งผู้ประกอบการต้องผ่านเกณฑ์ประเมินอัตลักษณ์ด้านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานและความโดดเด่นด้านบริการที่แสดงถึงคุณค่าเอกลักษณ์ไทย มีด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่
1.ที่พักนักท่องเที่ยว
2.ภัตตาคารหรือร้านอาหาร
3.นวดเพื่อสุขภาพ
4.สปาเพื่อสุขภาพ
5.สถานพยาบาล
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการบริการ ตามมาตรฐาน อย่างมีคุณภาพ จังหวัดเชียงใหม่ มีสถานประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน 37 แห่ง และได้ต่อยอดเป็นศูนย์ TWD จำนวน 14 แห่ง มีอัตลักษณ์ด้านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสตามเกณฑ์ของทางสาธารณสุข อาทิ สปาไทยล้านนาที่สามารถแสดงจุดยืนบนเวทีโลกเป็นสปาระดับ World Class ในประเทศไทยเองก็ผ่านเกณฑ์ประเมินทั้งด้านอัตลักษณ์ครบทุกด้านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ด้านวัฒนธรรมตกแต่งสถานที่ภายในภายนอกตามวัฒนธรรมล้านนา ด้านเสียง ใช้ดนตรีของชนเผ่าทางเหนือบรรเลง ด้านกลิ่นใช้พืชหอมพื้นถิ่นในการสร้างบรรยากาศ ด้านรส มีการปรับเปลี่ยนเมนูสุขภาพ เมนูสมุนไพร และผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน ซึ่งเข้าเกณฑ์การประเมิน “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” (Thainess Wellness Destination :TWD) อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการประเมิน “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” สามารถ ติดต่อได้ที่ กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 02 591 7007 ต่อ 2603
- 326 views