ฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยสุขภาพระยะยาว กับความเสี่ยง "มะเร็งปอด" สธ.เผยมีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ปี 2566 ยอด 16,123 คน อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอดปี 2559-2561 พบ! ผู้ป่วยภาคเหนือสูงสุด ภาคอิสานต่ำสุด 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นพิษ ตัวการร้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย โดยมีต้นตอปัญหาที่หลากหลายตามแต่ละพื้นที่ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย 

คนไทยเชื่ออีก 5 ปีข้างหน้าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเลวร้ายลง

จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างมาร์เก็ตบัซซและวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ที่คนไทยวิตกกังวล

  • สภาวะโลกร้อน 44%
  • มลพิษทางอากาศ 44%
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 25%

หายใจเอามลพิษทางอากาศ 3 ปี เสี่ยงมะเร็งปอด

คนไทยเชื่อว่า สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความเลวร้ายลงอีกใน 5 ปีข้างหน้า ข้อมูลจาก ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ชี้ให้เห็นถึงความกังวลต่อฝุ่นจิ๋วและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเข้าไปในปอดได้ลึก เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็งปอด โดยนักวิจัยด้านมะเร็งชาร์ลส์ สวันตัน (Charles Swantan) จากสถาบันฟรานซิส คริก (Francis Crick Institute) สหราชอาณาจักร เผยว่า การได้รับมลพิษทางอากาศเพียงแค่ 3 ปี ก็เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดได้

ปี 2559-2561 พบ! ผู้ป่วยมะเร็งปอด ภาคเหนือสูงสุด ภาคอิสานต่ำสุด

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า ในภาพรวม มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น โดยมะเร็งปอด ไม่ได้เกิดจากฝุ่นพิษอย่างเดียว อาจเกิดได้จากยีน หรือพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ หรือการสูดดมควันบุหรี่มือ 2 แต่การได้รับ PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดได้ ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มุ่งเน้นการป้องกันฝุ่นพิษเข้าสู่ประชาชน มีนโยบายตั้งแต่ต้นทาง โดยโรงพยาบาลในเครือของ สธ. จะพยายามใช้พลังงานสะอาด มีการจัดการขยะหรือแยกขยะ ทำให้การเผาลดลง มีนโยบายให้ลดการใช้ไฟฟ้า และการสนับสนุนเรื่องห้องปลอดฝุ่น ร่วมกับการสื่อสารให้ความรู้ด้านพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การสูด PM 2.5 ส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้

การสูด PM 2.5 ส่งผลระยะสั้น

  • เกิดการระคายเคืองตา ผิวหนัง
  • คัดจมูก มีน้ำมูก
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยง่าย

การสูด PM 2.5 ส่งผลระยะยาว

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งปอด

อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปอด 2559-2561 หน่วยต่อแสนประชากร

ภาคเหนือสูงสุด: เพศชาย 33.1 คน เพศหญิง 19.9 คน

ภาคอิสานต่ำสุด: เพศชาย 16.9 คน เพศหญิง 8.4 คน

ส่วนอัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ปี 2563-2566 นพ.อรรถพล กล่าวว่า อัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

  • ปี 2566 16,123 คน
  • ปี 2565 14,283 คน
  • ปี 2564 11,881 คน
  • ปี 2563 10,522 คน

ปธ.สภาลมหายใจเชียงใหม่ หนุนการกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่น โดยมีการจัดสรรงบฯ

ขณะที่นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวกับ Hfocus ว่า แต่เดิมรัฐแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า และใช้วิธีสั่งการลงมา การมีส่วนร่วมจึงต่ำ กฎหมายไม่สามารถจัดการปัญหาที่ซับซ้อนได้ ทำให้ปัญหาฝุ่นพิษหนักขึ้น จึงมีการเสนอการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีความเห็น ดังนี้

  • ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านถึงแหล่งกำเนิด และการเคลื่อนตัวของ PM 2.5 บางพื้นที่ฮอตสปอตน้อย แต่ปริมาณฝุ่นพิษเยอะ หรือบางพื้นที่ฮอตสปอตเยอะ แต่ปริมาณฝุ่นพิษน้อย ตามบริบทที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องทำให้สังคมเข้าใจ
  • ระบบบริหารจัดการต้องเปลี่ยนใหม่ สร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการปล่อย PM 2.5 ทำอย่างไรให้ทุกองคาพยพเข้ามาช่วยกัน
  • ต้องใช้ความรู้ในการแก้ไขปัญหา สิ่งที่นำเสนอ คือ การป้องกันและบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบควบคุม โดยบูรณาการและมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

"การทำงานจึงต้องมีการวางแผนจากทุกฝ่าย และต้องผ่านงานวิชาการ เชียงใหม่เลือกใช้แอปพลิเคชันไฟดี (FireD) ในการบริหารจัดการแบบควบคุม ไม่ให้เกิดไฟที่ไร้การควบคุม ทำให้อยู่ในขอบเขตที่รับได้ พยากรณ์ไปได้ 3-5 วัน เชียงใหม่ใช้มาแล้ว 3 ปีต่อเนื่อง ถ้าใครไม่แจ้งว่ามีการเผาจะโดนจับ ถ้าแจ้งมาจะถือว่าอยู่ในระบบ และทำเป็นวอร์รูม มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ทันสมัย ในนั้นจะตรวจสอบได้หมด ช่วยในการตัดสินใจ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในวอร์รูมนี้หมด ส่วนการทำงานในพื้นที่ มีการทำแนวกันไฟ มีหน่วยลาดตระเวน ช่วยควบคุมดูแลอยู่" นายชัชวาลย์ กล่าว

ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เพิ่มเติมว่า จากนี้การสื่อสารเชิงรุกสำคัญมาก ปัญหาฝุ่นพิษเป็นเรื่องซับซ้อน อย่างหมอกควันข้ามแดน เชียงใหม่ได้รับผลกระทบ 30% เชียงรายในปีที่ผ่านมา จุดฮอตสปอตน้อยมาก แต่ฝุ่นควันเยอะ ชัดเจนว่ามาจากหมอกควันข้ามแดน ขึ้นอยู่กับกระแสลม การระบายตัวของอากาศที่เกิดขึ้นมาในระยะ 10 ปีนี้เอง น่าจะเกิดจากโลกร้อน หากมีกฎหมายมาดูแลตรงนี้จะคุมทุกแหล่งกำเนิดได้ 

เมื่อถามถึงการกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่น นายชัชวาลย์ ให้ความเห็นว่า หากมีการกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่นจริง ๆ แก้โดยที่ท้องถิ่นช่วยกันแก้จะมองเห็นปัญหา แก้ไขได้ดีกว่า ที่ผ่านมา มีการโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น แต่ยังไม่มีงบประมาณ เช่น การถ่ายโอนภารกิจไฟป่า ที่ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุน ตอนนี้เป็นสูญญากาศอยู่ 

แหล่งกำเนิด PM 2.5 

สำหรับการเกิดฝุ่นพิษในแต่ละพื้นที่ ก็มีแหล่งกำเนิด PM 2.5 ที่แตกต่างกัน ได้แก่

ภาคเหนือ

  1. ไฟป่า
  2. การเผาเศษวัสดุการเกษตร
  3. หมอกควันข้ามแดน

ภาคกลาง

  1. การเผาเศษวัสดุการเกษตร
  2. ไฟป่า
  3. หมอกควันข้ามแดน

กทม.และปริมณฑล

  1. ยานพาหนะ
  2. การเผาในที่โล่ง
  3. โรงงานอุตสาหกรรม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  1. การเผาเศษวัสดุการเกษตร
  2. หมอกควันข้ามแดน
  3. การเผาริมทาง

ภาคใต้

  1. หมอกควันข้ามแดน (ก.ค.-ก.ย.)

ประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งแรก

เนื่องจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา จึงมีการจัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2567” และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ บอร์ดฝุ่นชาติ เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดจัดทำแผนและดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 ทั้งระบบ และบูรณาการหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง เผาป่า เผาในพื้นที่เกษตรกรรม ก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน ตลอดจนมีเครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

การทำงานหลังจากนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่ออากาศสะอาดในอนาคต

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประชุมระดับชาติ PM 2.5 เปิดเวทีถกประเด็นอากาศสะอาด คุ้มครองสุขภาพ ปชช.

ยื่น 11 ข้อเสนอแนะเชิงมาตรการ ให้รัฐบาลป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5