สธ. จัดโครงการรณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย FINDING HPV STOP CERVICAL CANCER ชูนวัตกรรม HPV DNA Test สนับสนุนให้ผู้หญิงตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยตนเอง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย Kickoff โครงการ “รณรงค์หยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย FINDING HPV STOPCERVICALCANCER” เพื่อสร้างความตระหนักให้สตรีไทย เห็นถึงความสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการเปิดตัวแคมเปญตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองด้วยวิธี HPV DNA Test แบบแยก 14 สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมเชิญผู้แทนเขตสุขภาพ 13 เขต เข้ารับมอบสัญลักษณ์ การดำเนินโครงการหยุดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดอภิปรายและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกและวิธีการประยุกต์ใช้ HPV Testing และ Genotyping ในทางเวชปฏิบัติ รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ จัดขึ้น ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ใน 13 ประเด็นมุ่งเน้น ซึ่งดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา ดูแลฟื้นฟูกายและใจ โดยเฉพาะมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ได้แก่
- มะเร็งตับ
- มะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ดังนั้นจึงขอเชิญชวนหญิงไทยอายุ 30 - 60 ปีบริบูรณ์ เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ โดยติดต่อเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการทุกแห่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่ช่วยให้ตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ เพื่อให้สตรีไทยมีสุขภาพดี ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก เพิ่มความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพประชาชน และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจ คัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น และพบว่ายังมีสตรีไทยที่ไม่เคยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เนื่องจาก มีความเขินอาย การขาดความรู้ความเข้าใจ ความกลัว ไม่ต้องการตรวจภายใน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และมุ่งหวังจะแก้ปัญหากรณีสตรีกลุ่มเป้าหมายไม่มารับการตรวจภายในให้มีโอกาสได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ ยังต้องการเพิ่มทางเลือกให้สตรีไทยที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดรูปแบบการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการพัฒนาอบรมให้ความรู้กับ อสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้ และกระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบแยก 14 สายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึง เป็นฐานข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของประเทศในการนำไปพัฒนาวัคซีน ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ อีกทั้งในกรณีตรวจติดตามการติดเชื้อแบบแฝง (Persistent infection) ด้วยเป้าหมาย 1 ล้านคนทั่วประเทศในปี 2567
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดสใน 100 วัน
- 797 views