รมว.สาธารณสุขเผยขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 มีกฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดแนวทางต่างๆ ขอความร่วมมือสถานบริการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ของผู้ใช้บริการก่อนเดินทางกลับ ส่วนสธ.มอบ อย.ลดมาตรฐานให้สถานพยาบาลใช้ “เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์” ได้ จากปัจจุบันเป็นเครื่องมือแพทย์  

 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมด้านมาตรการรองรับนโยบายการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 นำร่องในพื้นที่โซนนิ่ง คาดว่าจะมีการเริ่มให้บริการในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ว่า สธ. มีหน้าที่ดูแลกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ซึ่งได้มีการเสนอมาตรการรองรับแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้กำหนดออกมา  เช่น  กำหนดให้สถานบริการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะมึนเมา  ซึ่งในส่วนนี้คาดว่ามีการออกเป็นกฎกระทรวง มท. ขณะเดียวกัน ก็มีการขอความร่วมมือกับสถานบริการในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ของผู้ใช้บริการก่อนที่จะเดินทางกลับบ้าน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขจะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.เครื่องมือในการใช้ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในปัจจุบันถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องใช้ตามมาตรฐานการแพทย์ ขณะนี้จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาในการใช้เครื่องมือวัดระดับแอลกอฮอล์เบื้องต้น โดยการลดมาตรฐานที่อยู่ในระดับการแพทย์ลงมา เพื่อให้ประชาชนและสถานบริการสามารถนำไปใช้ตรวจวัดได้เอง ซึ่งทาง อย. จะต้องมีการตรวจวัดมาตรฐานของเครื่องมือ เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้วัดทั่วไป รวมไปถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถวัดระดับแอลกอฮอล์ได้ ก็จะต้องมีการวัดมาตรฐานเพื่อให้ใช้ได้ทั่วไปแต่ต้องมีความแม่นยำ

2.การสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องของการดูแลสุขภาพของประชาชนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะต้องมีความเข้มข้นขึ้น  3.การขอความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าหากพบผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรืออยู่ในภาวะมึนเมาแล้วจะต้องมีการปฏิบัติอย่างไร จะต้องบอกกล่าวหรือตักเตือนกันอย่างไร และ 4.เตรียมความพร้อมกรณีที่มีการเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุต่างๆ ทางหน่วยงานสาธารณสุขจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร

เมื่อถามว่าเครือข่ายภาคประชาชนตั้งคำถามว่าการขอความร่วมมือสถานบริการในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เป็นมาตรการที่ไม่สามารถขอความร่วมมือได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า กฎกระทรวงมหาดไทย จะดูแลเรื่องผู้ประกอบการสถานบริการอยู่ ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลเรื่องมิติสุขภาพ ซึ่งจะต้องไปดูว่ามีกฎหมายใด กฎกระทรวงใดที่มีความเกี่ยวข้องในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาจจะนำมาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย