ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนเกือบ 20 เครือข่าย บุกทำเนียบไว้อาลัยนโยบายรัฐบาลขยายเวลาปิดผับบาร์ตี 4  วอนนายกฯ ทบทวน รับฟังความเห็นให้รอบด้าน กำหนดมาตรการรับมือให้ชัด ทำได้จริง ก่อนเดินหน้า ยันหลักฐานผลสำรวจชัดเจน  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย

 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาชน นำโดย นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น.ส.เครือมาส ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และภาคีชุมชน กทม. กว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เลื่อนนโยบายขยายเวลาสถานบริการ ผับบาร์ ออกไป จากวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ให้เป็นช่วงสงกรานต์  โดยในวันเดียวกันนี้ ทางเครือข่ายยังได้มีการปราศรัยและนำดอกไม้จันทร์วางหน้าป้ายกฎกระทรวงขยายเวลาสถานบริการผับบาร์ เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านนโยบายดังกล่าว

 

นายเจษฎา กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสารเสพติดถูกกฎหมายที่สร้างผลกระทบในทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลก 3.3 ล้านคนต่อปี เฉพาะคนไทยตายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละประมาณ 26,000 คน เฉลี่ยทุก 20 นาทีจะมีคนไทยตาย 1 คน และการศึกษาพฤติกรรมการทำความผิดของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ปี 2550 พบว่า 40.8% ก่อคดีระหว่างดื่มหรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังดื่มสุรา ส่วนปี 2565 มีข้อมูลคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 14,854 คน โดยมีการดื่มแล้วขับไม่น้อยกว่า 20 % และยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 38.3%

 

ดังนั้น เราจึงมีความเป็นห่วงต่อนโยบายขยายเวลาปิดผับบาร์ในเวลาตี 4 ของรัฐบาล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ว่าจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยรวม และนักท่องเที่ยว ไม่คุ้มกับความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากนายกฯ ได้รับข้อมูลการศึกษาของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเองเมื่อปี 2563 ก็จะรู้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาต้องการเข้ามาเที่ยวธรรมชาติ และวัฒนธรรมของไทย เป็นอันดับต้นๆ ส่วนการกินดื่ม เที่ยวสถานบันเทิงยามค่ำคืนเป็นความสนใจลำดับสุดท้ายที่เขาจะสนใจ

อีกทั้ง ยังมีข้อมูลว่ามีชาวต่างชาติมาเสียชีวิตบนถนนเมืองไทยปีละกว่า 500 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2 หมื่นคน ดังนั้นความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างหากเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องขบคิดมากกว่าเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงที่จะเท่ากับการขยายเวลาความเสี่ยงให้กับการท่องเที่ยวไทย และเมื่อดูมาตรการต่างที่ออกมารับมือผลกระทบ ก็แทบจะไม่มีหวังเลยว่าจะปฏิบัติได้จริง  ใครต้องรับผิดชอบ  ใช้งบประมาณจากส่วนไหน  และหากสถานประกอบการมีปัญหากับคนเมาใครจะเข้าไปช่วยเหลือระงับเหตุ  เท่าที่เห็นเป็นเพียงการขอความร่วมมือซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรามาในวันนี้เพื่อจะเตือนรัฐบาล  ว่าการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน  จะทำแบบมักง่ายไม่ได้  ดังนั้น เราจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. เครือข่ายฯ ขอย้ำจุดยืนในการคัดค้านแนวคิดการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ร้านเหล้า ผับ บาร์ เพราะไม่เชื่อมั่นในมาตรการรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อประชาชน นักท่องเที่ยวอย่างได้ไม่คุ้มเสีย

2. ขอให้รัฐบาลทบทวนนโนบายนี้ โดยเลื่อนเวลาให้มีผลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างนี้ขอให้จัดระดมความเห็นจากภาคส่วนให้เกิดความรอบคอบ ปฏิบัติได้จริงและลดโอกาสเกิดความสูญเสีย เกิดกลไกกำกับติดตามประเมินผลที่เชื่อถือได้ หากผลได้น้อยกว่าความสูญเสียก็ต้องทบทวนในทางนโยบาย

3. ขอให้รัฐบาลเร่งพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย เช่น พ.ร.บ.สถานบริการ ที่ล้าหลังมากไม่ทันความเปลี่ยนแปลง   การกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการสถานบริการ ร้านเหล้าผับ บาร์ ต้องรับผิดชอบกรณีลูกค้าเมาแล้วขับไปเกิดอุบัติเหตุ สร้างผลกระทบทางสังคม หรือการกำหนดเพิ่มโทษ เมาแล้วขับสูงขึ้นเพื่อไม่ต้องรอลงอาญา ติดคุกจริง ๆ รวมถึงการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดมากขึ้น เป็นต้น

 

อนึ่ง เครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นเวลาตี 4 อาทิ ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) พร้อมด้วย เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิวิถีสุข เป็นต้น