กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชูโรงเรียนพัฒนาก้าวสู่สู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล (Global Standards for Health Promoting School : GSHPS) เพื่อพัฒนาเด็กไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลรอบข้างได้
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สุขภาพของเด็กไทย (อายุ 6-17 ปี) พบมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารรสหวาน มัน เค็ม กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ และยังมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงขึ้น ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนให้โรงเรียนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษา ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและอนามัยสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ให้มีทักษะที่จำเป็นรอบด้าน ทั้ง Soft Skills - Hard Skills ด้วยการพัฒนาทักษะในการคิด วิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะชีวิต เน้นให้เด็กและเยาวชน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลรอบข้างได้อย่างเหมาะสม
นพ.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย กรมอนามัยได้สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย 11 กระทรวง ลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ 4 H ได้แก่
1) Head ฉลาด เก่ง มีความรู้ ความสามารถ
2) Heart เป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม
3) Hand มีทักษะอาชีพ ใช้ความสามารถตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
4) Health สุขภาพดี แข็งแรง มีความรอบรู้ มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม
อีกทั้ง ยังขับเคลื่อนนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เหมาะสมกับเด็กโตและวัยรุ่น (อายุ 6 – 24 ปี) และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ได้มีการพัฒนา Digital Platform มาใช้สนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ Yellow book (สมุดบันทึกสุขภาพวัยเรียนวัยรุ่น) DOFUN (โปรแกรมเฝ้าระวังสุขภาพช่องปากโดยครู) และ Thai School Lunch (ระบบการจัดเมนูอาหารกลางวัน) เป็นต้น
“ทั้งนี้ การยกระดับมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ สู่มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับมาตรฐานสากล (Global Standards for Health Promoting School : GSHPS) ให้เป็นไปตามมาตรฐานตัวชี้วัดระดับโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ในปี 2564 โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญและภาคีเครือข่ายร่วมกันวางแนวทางภายใต้มาตรฐาน 10 องค์ประกอบ และ มาตรฐานด้านผลลัพธ์สุขภาพนักเรียน 6 ตัวชี้วัด โดยเป็นการยกระดับความรอบรู้ ด้านสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ ภัยคุกคามด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน สร้างเด็กไทยที่แข็งแรง สุขภาพดี ในอนาคตต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 947 views