ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอรามาหนุนบรรจุ "ยาฮอร์โมน" เป็นสิทธิประโยชน์ หลัง สปสช.เตรียมดัน ชี้ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน  หมอที่จ่ายฮอร์โมนต้องผ่านรับรองแพทยสภา เกิดการติดตามหลังรับฮอร์โมนให้ปลอดภัย เชื่อมีความคุ้มค่าคุ้มทุน 

 

 

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.  พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมผลักดันยาฮอร์โมนเป็นสิทธิประโยชน์ในส่วนของงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) สำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย LGBTQ+ ว่า ปัจจุบันคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือคนข้ามเพศ ไม่มีเรื่องของการเบิกจ่ายอะไรที่เป็นสิทธิที่จะเข้าถึงได้เลยต้องออกค่ารักษาเองทั้งหมด ทั้งค่าฮอร์โมน ค่ายา หรือค่าผ่าตัด ซึ่งการข้ามเพศจะมีการใช้ฮอร์โมนตั้งแต่ก่อนที่จะแปลงเพศ และหลังข้ามเพศแล้วก็ต้องมีการใช้ฮอร์โมนเพศไปจนถึงวัยทองที่จะลดการใช้ฮอร์โมนลงไปได้ หากประเมินคร่าวๆ คนหนึ่งที่จะข้ามเพศ เช่น ยาฉีดฮอร์โมนเพศชายฉีดสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ก็ราวๆ 26 ครั้งต่อปี เป็นต้น ก็ต้องไปศึกษาความคุ้มค่าคุ้มทุน ซึ่งจริงๆ มีทีมที่กำลังดำเนินการอยู่ว่าการให้ฮอร์โมนข้ามเพศมีความคุ้มทุนอย่างไร 

 

"ส่วนตัวมองว่าการให้ฮอร์โมนมีความคุ้มค่า เพราะช่วยลดภาวะความทุกข์ใจจากเพศสภาพของตัวเอง (Gender Dysphoria) เพราะเวลาที่เรามีเพศไม่ตรงสภาพจิตใจทำให้เกิดความทุขก์ใจ และมีความเสี่ยงเรื่องการพัฒนาตัวตนที่ไม่ดี ความรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกถูกปฏิเสธ เราแตกต่าง โรคซึมเศร้า บางคนถึงขั้นไม่ชอบตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจระยะยาว การที่คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงหรือมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการเพราะติดปัญหาค่าใช้จ่าย ก็ทำให้ปัญหานี้อยู่กับเขา และเกิดผลกระทบเรื้อรังและรุนแรงในระยะยาวได้" พญ.จิราภรณ์กล่าว 

 

ถามว่าการบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ ก็ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาใช่หรือไม่ เพราะการจ่ายยาฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศจะต้องมีการประเมินโดยแพทย์และจิตแพทย์ว่า พร้อมที่จะข้ามเพศจริงๆ  พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ตามระบบสิทธิประโยชน์ ก็คือจะต้องอยู่ในระบบ ส่วนใหญ่ก็จะต้องพบแพทย์ หรือมีการรับบริการกับสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นตามสิทธิก็เหมือนสิทธิการเบิกจ่ายการรักษาที่เรามี เช่น เป็นเบาหวาน ความดัน ก็รับยาตามสิทธิของเรา การรับฮอร์โมนก็จะเป็นคล้ายๆ แบบนั้น ซึ่งการรับตามสิทธิก็จะต้องมีการประเมินอยู่แล้ว ไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่ให้ฮอร์โมนได้ต้องเป็นแพทย์กลุ่มที่แพทยสภารับรอง ที่จะมีความรู้ความเข้าใจในการให้ฮอร์โมน ซึ่งแพทยสภากำลังออกข้อบังคับแพทยสภาภายในเดือน พ.ย.นี้ ได้แก่ หมอต่อมไร้ท่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น หมอสูตินรีเวชด้านฮอร์โมน หมอด้านเวชศาสตร์ทางเพศที่เริ่มมีการผลิต และหมอที่เคยมีประสบการณ์การดูแลคนข้ามเพศมาก่อนมากกว่า 50 เคสขึ้นไป ก็จะเป็นกลุ่มที่ให้ฮอร์โมนได้ 

 

"ถามว่ามีเยอะหรือไม่ เรากำลังจะผลิตลักษณะการอบรมระยะสั้น (Short Course) ทำให้ได้ใบรับรองต่างๆ ที่จะสามารถให้ฮอร์โมนได้ ทางแพทสภาจะมีกระบวนการทำให้พัฒนาทักษะแพทย์จำนวนหนึ่งที่ให้มีองค์ความรู้ในการให้ฮอร์โมนได้ เพราะหากให้ฮอร์โมนโดยที่เราไม่ได้มีสิทธิก็อาจจะมีความเสี่ยง" พญ.จิราภรณ์กล่าว 

ถามว่าการผลักดันให้เป็นสิทธิประโยชน์จะสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึง และลดการใช้ฮอร์โมนที่เป็นอันตรายได้ใช่หรือไม่  พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า ใช่ เพราะจะช่วยให้คนเข้าถึงบริการได้ ซึ่งตอนนี้ใครที่มีเงินก็เข้าถึงบริการได้ เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงสิทธิการรักษา แต่ถ้าทำให้มีการเบิกจ่ายได้ก็จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ และทำให้คนที่อาจไปซื้อยาอะไรไม่รู้มารับประทานเอง ที่มีราคาถูกและอาจเป็นอันตราย ก็จะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาหรือการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยมากขึ้นได้ 

 

ถามต่อว่าหากจะมีการขับเคลื่อนให้เป็นสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพจริงๆ มีประเด็นที่อยากฝาก สปสช.ให้ช่วยพิจารณาหรือไม่ พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า อยากให้มองคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นบุคคลทั่วไปบุคคลหนึ่ง คือคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษ ต้องการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถเข้าถึงบริการเพื่อทำให้สุขภาพของเขา มีการป้องกันโรคต่างๆ และทำให้เข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพที่ทำให้สุขภาพระยะยาวมีความปลอดภัย สิ่งสำคัญคือ Mind Set ต่อคนเหล่านี้ว่าเป้นคนธรรมดาทั่วไปที่ต้องการการช่วยเหลือและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ 

 

"จากเดิมเราเข้าใจว่า การให้ฮอร์โมนข้ามเพศ เหมือนเป็นการทำศัลยกรรมความงาม แต่จริงๆ ไม่ใช่ การให้ฮอร์โมนข้ามเพศในปัจจุบันคือการรักษา การส่งเสริมให้มีสุขภาวะ และการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ก็น่าจะมีความคุ้มค่า เขาไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษหรือเป็นเรื่องการเสริมความงามหรืออะไร แต่เป็นแค่การทำให้เขาสามารถมีร่างกายที่ตรงไปกับสภาพจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องของการดูแลช่วยเหลือและป้องกันปัญหาสุขภาพด้วย" พญ.จิราภรณ์กล่าว 

 

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า เราเจอว่าคนข้ามเพศมีอัตราร้อยละ 1-2 ซึ่งก็ถือว่าเยอะมาก หากเรามีประชากร 66 ล้านคน ก็มีประมาณ 6 แสนคน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราน่าจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้มีสุขภาพที่ดี และระยะยาวจะเป็นการลดการใช้เงินของประเทศในการดูแลความเจ็บป่วยจากการกินยาฮอร์โมนไม่เหมาะสม การเข้าไม่ถึงบริการ ไปกินหรือฉีดฮอร์โมนเองที่อาจเป็นอันตราย ก็เป็นการช่วยเหลือป้องกัน เพราะถ้าทำให้เขาเข้าสู่ระบบการรักษาก็จะมีการตรวจติดตามร่างกายหลังรับฮอร์โมน การเช็กระดับฮอร์โมนในเลือด การให้ยาป้องกันกรณีมีผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อน ทำให้สุขภาพระยะยาวดีขึ้น และประหยัดต้นทุนของประเทศ