ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” เผยเป็นเพียงข้อเสนอ “วัดระดับแอลกอฮอล์” นักดื่มทุกคนรองรับขยายผับบาร์ตี 4 ขณะที่ อย.อยู่ระหว่างพิจารณานิยาม ‘เครื่องวัดแอลกอฮอล์’ เพื่อให้ใช้ตรวจได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันเป็นเครื่องมือแพทย์ ด้าน อย. เตรียมมาตรการเพิ่มเข้าถึงตรวจวัดแอลกอฮอล์  

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ จากปิดตี 2 เป็น ตี 4 ว่า นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการให้เมืองท่องเที่ยว ในพื้นที่จำเพาะ หรือโซนนิ่งเรื่องนี้ในมุมของกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก เพราะนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับสุขภาพด้วย อย่างน้อยต้องคงเดิม หรือไม่มามากกว่าเดิม หรือเรามีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจจะดีกว่าเดิม ดังนั้น จึงให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ เราคงไม่คัดง้างหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แต่หน้าที่เราจะทำอย่างไรเมื่อขยายเวลาจากตี 2 เป็น ตี 4 ช่วงเวลาที่เขาขยายจะไม่ส่งผลกระทบต่อมิติสุขภาพ ซึ่งมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีกฎกระทรวงออกมารองรับ ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดที่จะเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีหรือประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้  เพราะกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลายมาตราที่ให้อำนาจ เช่น การกำหนดพื้นที่จำหน่าย ระยะเวลจำหน่าย สภาพบุคคลที่จำหน่าย

 

ยกตัวอย่าง มาตรการที่คุยในคณะกรรมการที่จะเสนอ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือ ทำอย่างไรมาตรการควบคุมอย่างเข้ม ให้มีเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยเรื่องนี้เยอะ คนที่จะออกจากร้านไปขับรถ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทุกคนจะต้องตรวจระดับแอลกอฮอล์ หากมีปริมาณเกินก็ต้องมีมาตรการเช่น ทางร้านหรือคนที่ควบคุมต้องไม่ให้ขับรถ ต้องมีรถสาธารณะมารองรับ หรือแม้กระทั่งระหว่างที่ดื่มกินก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ว่าห้ามจำหน่ายให้คนที่มีอาการมึนเมา เราก็แปลงมาว่าจะบังคับอย่างไร จะตรวจวัดอย่างไร ให้รู้ว่าคน คนนี้เข้าข่ายจะซื้อ จะขายตามกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเขาเขียนไว้ 2 ลักษณะ คือ ร้านจำหน่ายให้จำหน่ายถึงเวลาที่ปิดสถานบริการ เพราะฉะนั้น เมื่อปิดตี 4 ก็ขายถึงตี 4 เมื่อขยายตรงนี้มาตรการควบคุมก็ต้องเข้ม

 

อย.อยู่ระหว่างพิจารณานิยาม ‘เครื่องวัดแอลกอฮอล์’

“ขณะนี้กำลังคุยกันคือ เรื่องเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ซึ่งถูกนิยามเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐาน และมีราคาสูง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งแยกประเภท เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในส่วนที่ใช้ทางการแพทย์ก็ให้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ส่วนที่ใช้ในการตรวจวัดเป็นการทั่วไป เป็นลักษณะการค้นหา ก็ให้เป็นเครื่องมือทั่วไปหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนสามารถพกติดตัว สามารถตรวจสอบตัวเองได้ หากทุกคนมีวินัยก็จะไม่มีผลต่อการขยายเวลาเปิดผับ บาร์” นพ.ชลน่าน กล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณี นักร้องชื่อดัง ขับรถเกิดอุบัติเหตุชนพนักงานเก็บขยะ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นต้องออกมาตรการเข้มคนขับรถหรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเหตุผลชัดเจนเลย นับว่าเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราต้องตระหนัก และเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พึงมีกฎมาควบคุมชัดเจนเลย อย่างกรณีนักร้อง  หากดื่มเมาแล้วขับก็ผิดอยู่แล้ว   กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมาย ก็จะดูมาตรการป้องกันทั้งก่อน และหลังเกิดเหตุ

 

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงจะรณรงค์โดยใช้คำว่า “ดื่มไม่ขับ” ไม่ได้ใช้คำว่า “เมาไม่ขับ” ดังนั้นต่อไปต้องปรับมาตรการการรณงค์หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เข้มเลย หมายความว่า คำว่าดื่มไม่ขับอาจจะน้อยไปแล้ว จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าดื่มในสถานบันเทิง ดังนั้นต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุกต้องสนุกบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อตนเอง และของคนอื่นด้วย

 

เมื่อถามต่อว่า มีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้คนที่อยู่ในธรุกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวทาง เป็นวิธีคิดที่คล้ายกับการเก็บภาษีบาป ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารมึนเมา เพื่อนำเงินนี้มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้น ก็อาจจะมีแนวคิดอย่างนั้นได้ ต้องดูในรายละเอียดว่า สามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอกลอฮอล์แล้วนำมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อได้หรือไม่

 

เมื่อถามย้ำ จะเสนอเรื่องการตั้งกองทุนนี้เข้าไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี ก็กำลังพิจารณา

 

อย. เตรียมมาตรการเพิ่มเข้าถึงตรวจวัดแอลกอฮอล์  

นพ.ย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการเรื่องเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรียบร้อยแล้ว 
หากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีการออกประกาศกำหนดมาตรฐานเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็พร้อมที่จะออกประกาศให้เครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป

ปัจจุบันเครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกกอฮอล์จากร่างกายจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ และ เครื่องตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์จากของเหลวของร่างกายซึ่งใช้ในทางการแพทย์ โดยอย. เดินหน้าดำเนินการยกเลิกเครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจให้ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ซึ่งพกพาง่าย ตรวจได้เอง ราคาไม่แพง  
 

ทั้งนี้ อย.อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศยกเลิกเครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจไม่ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนเครื่องตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์จากของเหลวของร่างกายซึ่งใช้ในทางการแพทย์ยังคงเป็นเครื่องมือแพทย์ในการกำกับดูแลของ อย.