"หมออนามัย" ชี้ควรเพิ่มวิชาชีพพยาบาลเวชปฏิบัติให้มีทุกรพ.สต. พร้อมหนุนวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอ เพื่อตอบสนองนโยบาย "การแพทย์ปฐมภูมิ" ส่วนการตรวจเลือด การรับยา ยังคงปฏิบัติต่อเนื่อง ย้ำ!สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ "การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากชุมชน" ไม่ใช่แค่บุคลากรใน รพ.สต.
ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติแผน Quick Win 13 ประเด็น ให้เห็นผลใน 100 วัน อย่างข้อที่ 6. การแพทย์ปฐมภูมิ เช่น พัฒนาการตรวจเลือด รับยา เทเลเมดิซีนใกล้บ้าน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล, งานอนามัยโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียน นั้น ผู้สื่อข่าว Hfocus สัมภาษณ์ นายมานพ ผสม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผอ.รพ.สต.หนองพะลาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่า รพ.สต. มีการเตรียมแผนรองรับหรือมีการขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างไรบ้างและมองว่าจะเกิดผลประโยชน์ต่อการบริการสุขภาพประชาชนอย่างไร...
วันที่ 14 พ.ย. 2566 นายมานพ กล่าวว่า สำหรับเรื่อง "การแพทย์ปฐมภูมิ" ตนในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างเรื่องการตรวจเลือด การรับยา เรามีการปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้น นโยบายที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาไม่ถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ อย่างไรก็ตามนโยบายที่กำหนดมา มองว่าเป็นเรื่องที่ดี บุคลากรทุกคนมีความพยายามในการขับเคลื่อนและต้องการทำให้ระบบบริการสุภาพกับประชาชนเกิดผลดีที่สุด
การขับเคลื่อนนโยบาย "การแพทย์ปฐมภูมิ"
แต่สิ่งที่ต้องพูดถึงคือเรื่องปัญหาและอุปสรรค… ตนในฐานะผู้ปฏิบัติหน้างานมองว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่นั้น “ทำงานหรือบริหารงานบนความขาดแคลนของพื้นที่ตนเอง” อย่างเช่น รพ.สต.ไหนมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในเรื่องด้านเทคโนโลยีก็จะโดดเด่นในเรื่องนั้น โดยเฉพาะ “เทเลเมดิซีน” แต่ถ้าพื้นที่ไหนขาดแคลนด้านเทคโนโลยี ก็จะทำให้การทำงานไม่ราบรื่นมากนัก แต่ทุกพื้นที่ก็พยายามทำเพื่อให้ล้อกับนโยบายที่ผู้บริหารได้กำหนดไว้ ซึ่งคนที่อยู่หน้างานต้องแบกรับกับความคาดหวังของประชาชนไว้ด้วยเช่นกัน
สำหรับเรื่องที่ต้องควรเพิ่มเพื่อให้ตอบสนองกับนโยบาย คือ 1. เรื่องทรัพยากร จะต้องเพิ่มวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน อย่างตอนนี้ เราก็พยายามจัดหาอยู่ตลอด ซึ่งบางพื้นที่จัดหาได้ก็เป็นผลดีไป แต่บางที่ไม่สามารถจัดหาได้ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริการประชาชน จึงอยากให้เพิ่มเติมในส่วนนี้เพื่อให้การทำงานของบุคลากรเกิดสภาพคล่องขึ้น และตอบสนองนโยบายมากขึ้นด้วย
2. เรื่องบุคลากร ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้นโยบายขับเคลื่อนได้ตามกรอบโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น การตรวจเลือด การรับยา หรือ เทเลเมดิซีน ฯลฯ ตนมองว่า บุคลากรที่ รพ.สต.ควรมี คือ “วิชาชีพพยาบาลเวชปฏิบัติ" (Nurse Practitioner) เป็นคนที่เชื่อมอยู่ตรงกลางระหว่างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและชาวบ้าน อย่างเช่น การเชื่อมข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลชุมชน ,รพ.สต. , การส่งต่อผู้ป่วย, การรับผู้ป่วย รวมถึงการออกแบบระบบและการติดตามผลการรักษา การติดตามผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น ถือเป็นคนสำคัญที่ชี้ว่าระบบจะยั่งยืนหรือเดินหน้าอย่างต่อเนื่องหรือไม่ จึงเป็นคนที่ควรได้รับการส่งเสริมและต้องได้รับความก้าวหน้าด้วยเช่นกัน และ 3. เรื่องงบประมาณ อย่าง การดูแลเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสมรรถภาพการใช้งานด้วย
"สุดท้ายถ้าหากปรับปรุงและแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากที่กล่าวมาในเบื้องต้นได้ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนได้ประหยัดงบประมาณในการใช้จ่ายภายในครอบครัวได้ เช่น ญาติไม่ต้องลางาน ฯลฯ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นและเกิดความพึงพอใจต่อระบบบริการในพื้นที่และอาจให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริการเพิ่มขึ้น"
"อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ "การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากชุมชน" จึงจะเกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืนในชุมชน ไม่ใช่แค่บุคลากรใน รพ.สต.เท่านั้น" นายมานพ กล่าวทิ้งท้าย.
- 2605 views