อดีตที่ปรึกษาอนามัยโลกด้านการบาดเจ็บร่วมกับ 40 องค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือถึงรมว.คมนาคมคัดค้านการออกประกาศใหม่เรื่องการเลื่อนติดตั้งเบรค ABS และ CBS ของรถจักรยานยนต์ ระบุซื้อเวลา ส่งผลคนไทยตาย บาดเจ็บ พิการ เพิ่มขึ้น รพ.ล้น ขาดแคลนวัยทำงานของประเทศ

         

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและอดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Regional advisor WHO SEARO, Ret. ) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค และ 40 องค์กรเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้ยับยั้งการออกประกาศใหม่ เรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับที่ 2) ที่โครงการและเครือข่ายพิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีการประกาศดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินงานและความสำเร็จของงานความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงคมนาคม

อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากเพราะมีผลให้ผู้ใช้มีโอกาส บาดเจ็บรุนแรงและตาย อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยและภาคีเครือข่าย 40 องค์กรขอแสดงความ ขอบคุณต่อกระทรวงคมนาคมที่ได้ทำการทดสอบระบบเบรก ABS และ CBS และมอบหมายให้กรมการขนส่ง ทางบกออกประกาศ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ ตั้งแต่พ.ศ. 2564 ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้าน ความปลอดภัย ในเรื่องเบรก ABS ของรถจักรยานยนต์ ในกลุ่มประเทศ ASEAN

แต่เมื่อไม่นานมานี้กรมการขนส่งทางบกได้เสนอร่างประกาศเรื่องกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ (ฉบับ ที่ 2) โดยยกเลิกความในข้อ 26 ของประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ สมรรถนะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองแบบระบบห้ามล้อสำหรับรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2564 โดยให้เลื่อนการติดตั้งระบบห้ามล้อ ABS ที่เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยสำคัญของจักรยานยนต์รุ่น 125 ซีซีและต่ำกว่าออกไปอีก 2 ปี

         

พญ.ชไมพันธุ์ ระบุว่า ทางโครงการฯ และเครือข่าย 40 องค์กรเห็นว่า หากประกาศใช้ ร่างประกาศ ฉบับที่ 2 ดังกล่าวจะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินงานและความสำเร็จของงานความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงคมนาคม ถึง 4 ประเด็นหลักๆ คือ

1) ร่างประกาศคลุมเครือ ไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติว่าการเลื่อนออกไป 2 ปี เป็นเฉพาะ CBS หรือรวม ABS ด้วย   

2) เป็นการเยียวยาอุตสาหกรรมจักรยานยนต์ที่แลกกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่จะซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ในปี 2567- 2568 ซึ่งจะมีประมาณ 1.6 ล้านคัน ต้องใช้จักรยานยนต์ที่มีความปลอดภัยต่ำบนถนนต่อไปอีก 5-10 ปี ตามอายุการ ใช้งานจักรยานยนต์ทั้งที่ CBS และ ABS สามารถลดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ได้ 20-40 %  

3)  ประกาศดังกล่าวมีลักษณะสนับสนุนอุตสาหกรรมจักรยานยนต์บางส่วนที่ละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีเบรกรถจักรยานยนต์ทั้งๆที่เป็น ความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ผลิตกับกระทรวงคมนาคม

4) ร่างประกาศฉบับ 2 ไม่เอื้ออำนวยต่อนโยบายรัฐในการที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร ซึ่ง 80% ของการเสียชีวิตเป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ การบังคับใช้ตามประกาศเดิมในจักรยานยนต์ 125 ซีซีและต่ำกว่าทั้งหมดใน พ.ศ. 2567 จะลดการบาดเจ็บ/ตาย ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะ จักรยานยนต์กลุ่มนี้คิดเป็น 80% ของรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในแต่ละปี 

พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า มีข้อมูลล่าสุดว่า การตายของผู้ใช้จักรยานยนต์รุ่นครอบครัวหรือ 125 ซีซี และต่ำกว่า คิดเป็น สัดส่วน 88% ของการตายจากจักรยานยนต์ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการฯ และ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโปรดพิจารณายับยั้งการออกประกาศดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดผลเสียต่อทางราชการและ ความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้ถนน

“ร่างประกาศใหม่นี้ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าการเลื่อนออกไป 2 ปี เป็นเฉพาะ CBS หรือรวม ABS ด้วย  ทั้งที่ CBS และ ABS จะลดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ได้ถึง 20-40 %  การบังคับใช้ตามประกาศเดิมในจักรยานยนต์ 125 ซีซีและต่ำกว่าทั้งหมดใน พ.ศ. 2567จะลดการบาดเจ็บ  ตาย ได้อย่างมีนัยสำคัญใน2 ปี เพราะการตายของผู้ใช้จักรยานยนต์กลุ่มนี้ คิดเป็น 88% ของการตายจากจักรยานยนต์ทั้งหมดทั้งหมด และยังจะมีผลให้รถจักรยานยนต์ที่มีเบรกดีเหล่านี้  ราคาค่อยๆลดลงอย่างชัดเจนตามปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว

พญงชไมพันธ์ุ กล่าวอีกว่า หากใช้ ร่างประกาศใหม่ที่เลื่อนกำหนดจากเดิมออกไปอีก 2 ปี จะมีปัญหาความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนต่อเนื่อง และเพิ่มภาระงานของโรงพยาบาลที่หนักอึ้งอยู่แล้ว ทั้ง ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู ศัลย์ทั่วไปและกระดูก จนถึงเวชกรรมฟื้นฟูจะไม่ลดลง รวมทั้ง ไม่ได้ลดคนตายบนถนน หรือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สูง ถึง 6% ของ GDP ด้วย ซึ่งมีผลศึกษาของTDRI ระบุว่า  วิธีเพิ่ม GDP ได้ดีคือการลดอุบัติเหตุทางถนน ที่ทำให้สูญเสียแรงงานวัยทำงานไปจำนวนมากต่อปี รัฐบาลไม่ต้อง เร่งรัดให้คนมีลูก แค่ไม่เลื่อนบังคับใช้กฎหมายของจักรยานยนต์ 125 ซีซีและต่ำกว่า เพื่อปกป้องชีวิตประชากรหนุ่มสาวของประเทศนี้ที่เกิดมาแล้วก็พอ