กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ขยายความร่วมมือในการเข้าถึงวัคซีน ในโอกาสวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก พร้อมเร่งฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกและวัคซีนป้องกันโรคติดต่อในเด็กเล็ก

กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก World Immunization Day 2023 เพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตั้งเป้าประชาชนในประเทศไทย ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมในทุกช่วงวัย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น วัคซีนพื้นฐานในเด็กเล็กและวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพมหานคร นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกับ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ Dr.Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศ.นพ.ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้แทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ รศ.นพ. สุรสิทธิ์ ชัยทองวงศ์วัฒนา ผู้แทนราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวในหัวข้อ “วัคซีนกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หลังการระบาดของโควิด 19 สำคัญและจำเป็นแค่ไหนในทุกช่วงวัย” ในโอกาสวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Day 2023) 
      
นพ.โสภณ กล่าวว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการ “ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส ภายใน 100 วันให้กับผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร” ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าสูงในการป้องกันการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะยาว โดยขณะนี้ทุกจังหวัดได้ระดมความร่วมมือดำเนินการฉีดวัคซีน HPV ให้เด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา และจะเริ่มฉีดผู้หญิงในวัยเดียวกันนอกสถานศึกษาในเดือนธันวาคมนี้ 

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีเด็กเล็กจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนด ส่งผลให้ปัจจุบันพบโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ ดังปรากฏจากรายงานพบผู้ป่วยเด็กเป็นโรคไอกรน และคอตีบเพิ่มขึ้นในพื้นที่ ที่มีร้อยละความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ปกครองให้ความสำคัญนำเด็กมารับวัคซีนให้ครบถ้วน และเพื่อให้เด็กไทยได้รับวัคซีนที่จำเป็นลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดต่อที่ป้องกันได้ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่ามากที่สุดมาตรการหนึ่งในงานสาธารณสุข