กรมสุขภาพจิตยังคงห่วงใย ให้การดูแลเยียวยาจิตใจแรงงานไทยและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล เผยผลการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอลสูงกว่า 8,500 ราย พร้อมจัดเตรียมแผนงานเชิงรุกสร้างวัคซีนใจในชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตยังคงให้ความสำคัญในการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล  โดยยังคงมีหน่วยคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับในสนามบินทั้ง 3 แห่ง ได้แก่

  • ท่าอาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ
  • ท่าอาศยานนานาชาติดอนเมือง
  • ท่าอาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

ซึ่งแรงงานไทยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาทางกรมสุขภาพจิตยังมีหน่วยงานในภูมิภาค ได้แก่ โรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิตพร้อมด้วยเครือข่ายสุขภาพจิตในพื้นที่ ดำเนินการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตให้กับทุกคน ทั้งเชิงรุกคือการลงไปพบในภูมิลำเนาที่แรงงานอาศัยอยู่และ เชิงรับคือการรณรงค์ให้ใช้งานระบบ Mental Health Check In เพื่อสำรวจสุขภาพจิตให้กับผู้ที่คิดว่าตนเองมีปัญหา ได้ตรวจประเมินจิตใจตนเองและสามารถนำไปสู่การร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ภายในระบบได้ โดยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอลไปแล้วรวมทั้งสิ้นคน จำนวน 8,537 คน อีกทั้งยังได้ดำเนินการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มโดยจำนวนถึง 22,759 รายอีกด้วย 

นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในระยะต่อไปกรมสุขภาพจิตได้มีแผนที่จะนำหลักการวัคซีนใจในชุมชนมาใช้ เพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิต เนื่องจากแรงงานไทยบางคนอาจจะยังมีอาการทางจิตใจที่ต่อเนื่องและซ่อนอยู่อีกทั้งในบางรายที่ความช่วยเหลือยังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็อาจจะเกิดความเครียดและมีปัญหาในครอบครัวได้ ซึ่งวัคซีนใจในชุมชนจะเป็นการออกแบบมาตรการและกิจกรรม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาและดูแลด้านจิตสังคมให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากในกลุ่มผู้ประสบเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และครอบครัว เพื่อให้มีพลังใจและพร้อมที่จะต่อสู้และก้าวผ่านวิกฤตไปได้  ซึ่งหลักการวัคซีนใจในชุมชนประกอบด้วยหลัก 4 สร้าง 2 ใช้ โดย 4 สร้าง ประกอบด้วย 
1. สร้างความรู้สึกปลอดภัย 
2. สร้างความรู้สึกสงบ 
3. สร้างความหวัง 
4. สร้างความเข้าใจและดูแล 

หลัก 2 ใช้ คือ 
1. ใช้ศักยภาพในชุมชนและ 
2. ใช้สายสัมพันธ์ในชุมชน 
ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของเครือข่ายแรงงานและเครือข่ายต่าง ๆ ให้ช่วยกันดูแลซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะปกป้องและป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้อีกด้วย สร้างความปลอดภัย ใจสงบ พบความหวั งเติมพลังความห่วงใย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมสุขภาพจิต ห่วงใยพี่น้องไทยในอิสราเอล แนะนำ 6 แนวทางดูแลใจเบื้องต้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org