สธ.ย้ำ! หลักการถ่ายโอนปี 68 ยึดหลักตามเกณฑ์ตามข้อวินิจฉัยรองนายกฯ “สมศักดิ์” ปธ.กก.กระจายอำนาจฯ ส่วน 5 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่ไม่ตรงภารกิจปฐมภูมิให้โอนย้ายตามระบบ ไม่ใช่ถ่ายโอน
จากกรณีมติคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการถ่ายโอนกลุ่มสมัครใจ 766 คนประจำปีงบประมาณ 2567 ส่วนกลุ่มบุคลากร 222 คนที่ปฏิบัติงาน 5 หน่วยงานสังกัดสธ. (สสอ.สสจ.รพช.รพท.รพศ.) ให้โอนย้ายได้ทุกคน แต่ให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไปจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ โดยไปเอาเลขตำแหน่งว่าง (ถ.) ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขณะที่การถ่ายโอนปีงบประมาณ2568 ก็ให้ดำเนินการต่อไปนั้น
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเตรียมการอย่างไรภายหลังมีมติดังกล่าว ว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทางกระทรวงสาธารณสุขยินดีดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีฯ ชลน่าน ศรีแก้ว โดย 1.สธ.เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าระยะยาวจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน 2.รัฐมนตรีฯ ย้ำตลอดว่า การบริการอย่างน้อยต้องเท่าเดิม และอนาคตต้องดีกว่าเดิม และ3.ต้องไม่เกิดผลกระทบประชาชน
“ดังนั้น หลักการถ่ายโอนภารกิจก็เป็นการให้บริการประชาชนในท้องถิ่น แต่การบริการประชาชนต้องเชื่อมโยงกัน โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)เป็นการบริการปฐมภูมิ ซึ่งต้องไม่กระทบกับทุติยภูมิ และตติยภูมิ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์ ทำให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ได้มีการประชุมหารือและวินิจฉัยจนได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่า สามารถโอนย้ายได้ ซึ่งแตกต่างกับการถ่ายโอน” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าการถ่ายโอนปีงบประมาณ2568 ยืนยันว่าหน่วยงานที่ไม่ตรงภารกิจปฐมภูมิไม่สามารถถ่ายโอนได้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากคนที่ทำงานหน่วยบริการอื่นๆที่ไม่ใช่ปฐมภูมิถ่ายโอนไม่ได้ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ลองนึกภาพหากคนที่ทำงานไอซียู ของรพ.ศูนย์ไปรพ.สต.ก็จะได้รับผลกระทบต่อการบริการ แต่ก็จะไปโทษเขาไม่ได้ เพราะภาระงานหนักจริง ซึ่งตรงนี้สธ.ก็ต้องหาทางดูแลพวกเขาเช่นกัน และบางคนก็อยากกลับไปอยู่บ้าน แต่ละคนมีเหตุผลความจำเป็น แต่เราก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
“ยกตัวอย่าง กรณีไอซียู ที่รพ.ในจังหวัดศรีสะเกษ ประสบปัญหาเยอะ ใครเดือดร้อน ก็ประชาชน ตรงนี้ต้องดูภาพรวม ต้องครบวงจรทั้งหมด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสื่อสารตลอด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ท่านรองนายกฯสมศักดิ์ ประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ได้มีการวินิจฉัยแล้ว 1. การถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ 2.การถ่ายโอนต้องเกี่ยวข้องกับภารกิจปฐมภูมิ ซึ่งท่านรัฐมนตรีชลน่าน ผ่อนปรนได้ จากเดิมต้องเป็นคนกับตำแหน่งที่อยู่รพ.สต. แต่ให้แนวว่า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น เช่น คนไหนทำงานรพ.สต.แต่เลขตำแหน่งไม่อยู่ก็ถ่ายโอนได้ หรือคนไหนเลขอยู่รพ.สต.แต่ตัวทำงานอย่างอื่นแล้วก็ถ่ายโอนได้ในปี 67 ที่ผ่านมา ส่วนคนที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ให้เป็นไปตามการโอนย้าย” ปลัดสธ.กล่าว
- 2989 views