สช.-สวรส. จับมือภาคีลงนามพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นร่วมกับ “อบจ.ปทุมธานี” เตรียมปักหมุด รพ.สต. 2 แห่ง “บางขะแยง-บ่อเงิน” นำร่องจัดบริการปฐมภูมิบนกระบวนการมีส่วนร่วม ตอบโจทย์ตรงปัญหา-ความต้องการของประชาชน หวังสร้างนวัตกรรม-องค์ความรู้ สู่การขยายผล-สร้างความมั่นใจ ช่วยสนับสนุนในกระบวนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม จังหวัดปทุมธานี โดยจะพัฒนาพื้นที่นำร่อง (Sandbox) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ตรงกับปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จากการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ.
นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในฐานะประธานในพิธี เปิดเผยว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ถือเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการระบบสุขภาพโดยท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมกันแสวงหาแนวคิด แนวทาง ที่จะทำให้กลไกของการอภิบาลระบบสุขภาพเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการถ่ายโอนฯ ไม่ใช่การปล่อยมือให้ อบจ. บริหาร รพ.สต. เอง แต่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องยังจะต้องร่วมกันเกื้อหนุนจนกว่าระบบสุขภาพของท้องถิ่นที่รับไปจะเกิดความเข้มแข็ง
นายสิทธิชัย กล่าวว่า อบจ.ปทุมธานี ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการบริหารงานระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี สำหรับกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ก็ไม่พบปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนอีกหลายจังหวัด โดยแพทย์ พยาบาล หรือพนักงานลูกจ้างที่ประสงค์ถ่ายโอน ทาง อบจ.ปทุมธานี ก็ยืนยันว่าจะดูแลให้อย่างดีที่สุด ทั้งการทำงาน รวมถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยการร่วมกันลงนามครั้งนี้ จะมี รพ.สต.บางขะแยง และ รพ.สต.บ่อเงิน เป็น 2 พื้นที่ต้นแบบนำร่องในการสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ และขยายผลให้ รพ.สต. พื้นที่อื่นๆ เกิดความมั่นใจต่อไป
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ปัจจุบัน อบจ.ปทุมธานี ได้รับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. มาแล้วรวม 24 แห่ง ให้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการป้องกันและบำบัดโรค ส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน รักษาพยาบาลอย่างง่าย ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตามกรอบแนวคิดและเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันลงนามครั้งนี้ขึ้น โดยแต่ละฝ่ายจะสนับสนุนบุคลากร องค์ความรู้ และทรัพยากรอื่นที่จำเป็น ในการสร้างพื้นที่นำร่องพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น รวมถึงการศึกษา วิจัย และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้กระบวนการและเครื่องมือต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จะมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1. ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นผู้จัดการระบบสุขภาพควบคู่กับบริการสาธารณะด้านอื่นๆ สามารถดูแลคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นองค์รวม 2. ระบบบริการสุขภาพเข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนเชื่อมโยงกันทั้งในแง่ทรัพยากร วิชาการ บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ 3. ประเทศปลอดภัย มั่นคง มั่งคั่งมากขึ้นในภาพรวม
นพ.ปรีดา กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ที่ตั้งต้นมาตั้งแต่ปี 2542 นับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง และยิ่งพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อย่างกรณีของ อบจ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นแบบอย่างของการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เช่น วัคซีน ตรวจคัดกรอง ฯลฯ ทำให้เห็นว่าการมอบหมายภารกิจสำคัญให้แก่ท้องถิ่น จากเดิมที่มุ่งเน้นเรื่องของสังคม โครงสร้างพื้นฐาน มาเป็นเรื่องในมิติสุขภาพมากขึ้น จะช่วยเชื่อมต่อให้การดูแลคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่สมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น
“เราเห็นถึงโจทย์ที่ท้าทายของ อบจ. ในการรับถ่ายโอนภารกิจ ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพจาก รพ.สต. ที่ดีกว่าเดิม ทาง สช. จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยของ สวรส. เพื่อดำเนินการศึกษากลไกการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการหนุนเสริมการดำเนินงานของ อบจ. นำร่องใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ปทุมธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นชุดความรู้ ข้อเสนอ ที่จะนำไปสู่การขยายผลการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นพ.ปรีดา กล่าว
ด้าน ศ.วุฒิสาร ตันไชย กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ คือเอาอำนาจการแก้ไขปัญหาไปไว้ใกล้กับปัญหามากที่สุด และคนที่อยู่กับปัญหาก็ได้มีส่วนร่วมคิดว่าจะแก้อย่างไร บนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ สามารถจัดลำดับความสำคัญของปัญหา จึงทำให้มุมมองความคิดของแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันได้ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงหมู่บ้าน
“การถ่ายโอนภารกิจนี้ยังไม่ใช่ความสำเร็จของการกระจายอำนาจ แต่เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านบทบาทใหม่ จากในอดีตที่รัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เป็นผู้จัดการทุกเรื่อง มาวันนี้เรามีผู้เล่นเพิ่มเติมเข้ามาใหม่คือท้องถิ่น รวมไปถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชนด้วย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่งานวิจัยและพื้นที่นำร่องเหล่านี้ จะช่วยสะท้อนในสิ่งที่ต้องมีการหนุนเสริม ออกแบบวิธีการทำงานใหม่ เพื่อให้เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนนั้นประสบความสำเร็จ” ศ.วุฒิสาร กล่าว
ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า ในส่วนความท้าทายที่จะทำให้การถ่ายโอนภารกิจประสบผลสำเร็จ คือการทำให้กระบวนการราบรื่น จัดการคน เงิน กฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานของ รพ.สต. ให้มีคุณภาพบริการดีขึ้นหรือไม่น้อยกว่าเดิม เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยบริการสุขภาพในระดับต่างๆ ได้อย่างราบรื่น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น และสุดท้ายคือภาพแห่งอนาคตที่จะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะได้อย่างเป็นองค์รวม ทำให้ รพ.สต. กลายเป็นศูนย์สุขภาวะตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลายเป็นอาสาสมัครสุขภาวะหมู่บ้าน โดยที่ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงการทำงานในทุกมิติเพื่อสร้างสุขภาวะของประชาชนให้ดีที่สุด
อนึ่ง ในส่วนของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ สช. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ยังได้มีการจัดเวทีสาธารณะขับเคลื่อนการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นระดับจังหวัด ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจ ระดมความคิดเห็นข้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 แห่ง คือ รพ.สต.บางขะแยง และ รพ.สต.บ่อเงิน
- 157 views