ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผยระบบการรักษาพยาบาลที่บ้าน (Virtual Hospital) เป็นระบบโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time พร้อมด้วยบริการครบวงจรเสมือนการเข้าโรงพยาบาลจริง ลดความแออัดในโรงพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 66 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งในด้านองค์ความรู้ กำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา ทำให้มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นสาธารณสุขยุคใหม่ MOPH Plus ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ ภายใต้นโยบาย 30 บาทพลัส เพิ่มคุณภาพชีวิตทุกคนทุกกลุ่มจึงเร่งขับเคลื่อนนโยบายในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง Digital Health การพัฒนางานดิจิตัล ได้แก่ ระบบ DMS PHR ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล การให้บริการแพทย์ทางไกลครบวงจร และ Smart Hospital การแพทย์ปฐมภูมิ โดยการนำเอา virtual hospital และอื่น ๆ มาใช้ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ได้พัฒนาระบบ Virtual Hospital เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาและพบแพทย์ได้แบบออนไลน์ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล อีกทั้ง ยังมีการให้บริการเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกของผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการ และลดความแออัดในโรงพยาบาล จะเห็นได้ว่า จากนโยบายที่ชัดเจนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผลให้เกิดการคลี่คลายปัญหาความแออัดได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเปิดให้บริการแก่ประชาชนมากว่า 72 ปี จากสถิติที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกมารับบริการทางการแพทย์มากกว่า 1,000,000 รายต่อปี หรือประมาณ 5,400 รายต่อวัน ในแต่ละวันพบว่ามีความแออัดของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้รับบริการเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบบริการในโรงพยาบาลถือเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย

โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้สำหรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยการพัฒนาระบบ Virtual Hospital ซึ่งเป็นระบบปรึกษาการแพทย์ทางไกลผ่าน DMS Telemedicine ที่เชื่อมโยงกับระบบบริการทางการแพทย์เดิม ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time พร้อมด้วยบริการครบวงจรเสมือนการเข้าโรงพยาบาลจริง โดยผู้เข้ารับบริการสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไขการเข้ารับบริการ เช่น ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังมีบริการเจาะเลือดที่บ้านหรือเจาะเลือดใกล้บ้าน บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ และสำหรับผู้ป่วยในรายที่อาการคงที่สามารถนอนพักรักษาที่บ้านแทนการนอนที่โรงพยาบาล (Home Ward) ได้อีกด้วย ซึ่งผู้รับบริการสามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลราชวิถีได้จากทุกที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา เหมือนกับการมารับบริการที่โรงพยาบาล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "รมว.ชลน่าน" คัด 9 Quick Win เห็นผล 100 วัน เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาเลือก Quick Win รัฐบาล

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org