รมว.สธ. เร่งวาระแห่งชาติ "ส่งเสริมการมีลูก" แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย คาดอีก 60 ปี ประชากรจะลดลงครึ่งหนึ่ง จาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626    

วันนี้ (30 ตุลาคม 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566  โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ. 2506 - 2526 ลดลงเหลือ 485,085 คน ในปี พ.ศ. 2564 ในขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน

  • การลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน (2.1) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536
  • ปี พ.ศ.2565 อยู่ที่ 1.16 โดยเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน
  • มีเพียงจังหวัดยะลาเท่านั้นที่มีค่า TFR เท่ากับ 2.27 ซึ่งสูงกว่าระดับทดแทน

สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้น หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20 - 24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60 - 64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น มีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

"กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีบุตร ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ใน 60 ปีข้างหน้าจำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 จำนวนประชากรวัยแรงงาน (ช่วงอายุ 15 ถึง 64 ปี) จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน จำนวนประชากรวัยเด็ก (ช่วงอายุ 0 ถึง 14) จะลดลงจาก 10 ล้านคน  ในเหลือเพียง 1 ล้านคน สูงวัย (65+) เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการใน 2 เรื่องหลักที่ต้องการให้สำเร็จภายใน 100 วันคือ การผลักดัน ประเด็น ส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ และ การมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร กรมอนามัย จึงกำหนดจัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้บุคลากร 3 กลุ่มหลัก คือ สูตินรีแพทย์ พยาบาลและนักเทคนิคการแพทย์ คาดว่าจะสามารถให้บริการกับประชาชนได้ภายในธันวาคม 2566 นี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นิด้าโพลเผยผลสำรวจคนไทยไม่อยากมีลูก เหตุภาระค่าใช้จ่าย สภาพสังคม แนะรัฐอัดสวัสดิการกระตุ้น!

สช.ผนึกภาคี เปิดเวทีถกปัญหาเด็กเกิดน้อย ก่อนรวมเป็นเชิงนโยบายสู่รัฐบาล

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org