รมว.สาธารณสุข เตรียมออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนครอบครองเม็ด “ยาบ้า” ต้องไม่เกิน “10 เม็ด” ถือเป็นผู้เสพเท่ากับเป็นผู้ป่วยต้องไปบำบัด หลังมีข้อสรุปร่วม ป.ป.ส. แจงพิจารณาทุกมิติทั้งการแพทย์ เศรษฐกิจ กฎหมาย พฤติกรรมผู้ค้า คาดประกาศได้ปลายเดือน พ.ย. หรือช่วง ธ.ค.อยู่ในระยะควิกวิน 100 วัน ย้ำมุม สธ.จะกี่เม็ดถือเป็นผู้ป่วยต้องบำบัด
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 ว่า เราประกาศเรื่องยาเสพติด/ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเป็นเรื่องที่ต้องสู้ร่วมกัน เพื่อคืนลูกหลานเยาวชน คืนโอกาสให้ประชาชนคนไทย และสร้างโอกาสประเทศในการขับเคลื่อนผลิตภาพมนุษย์วัยแรงงาน ทั้งนี้ มั่นใจว่านโยบายเร่งรัดควิกวินเรื่องยาเสพติดจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ใน 100 วัน กิจกรรมที่ดำเนินการ คือ 1. มินิธัญญารักษ์ ครอบคลุมทุกจังหวัด เป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดทุกจังหวัด และ 3.มีกลุ่มงานด้านจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ เพื่อรองรับเป็นโครงสร้างการทำงาน เราจะประกาศให้ครบทุกพื้นที่
โดยในมุมของ สธ.มีบทบาทสำคัญภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่ออกมา คือ การบำบัดรักษาและฟื้นฟู โดยใช้กลไกทั้งสถานบริการเน้นหนักด้านการแพทย์ อีกส่วนคือ ชุมชนบำบัด เน้นหนักด้านพฤติกรรม ซึ่งจะต้องผสมผสานบูรณาการหลายภาคส่วน
" สิ่งที่ต้องเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดำเนินการ คือ การให้ความรู้ ความใส่ใจกับคนเกี่ยวข้องยาเสพติดด้วย โดยย้ำว่าเรื่องนี้เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นซ้ำได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้การดูแลฟื้นฟูติดตามจะสำเร็จมากขึ้น อาจป้องกันการเป็นซ้ำมากขึ้นเพราะเราเข้าใจ สำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ เป็นหน้าที่ของครอบครัวและชุมชนที่ต้องช่วยกันไม่ให้มีผู้ไปเสพยาเสพติด" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า นิยามตามกฎหมายผู้เสพคือผู้ป่วย ซึ่งคาดการณ์ว่า มีประมาณ 1.5 ล้านรายที่เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ที่ติดแล้ว โดยผู้ใช้คือผู้เสพที่ไม่มีอาการ ใช้บางครั้งบางคราว ผู้เสพคือมีอาการต้องใช้ยามากขึ้น และผู้ติดแล้วมีอาการติดยาอย่างชัดเจน ทั้ง 3 กลุ่มคือผู้เสพที่เราต้องดูแล ส่วนจะเข้าการบำบัดรักษาอย่างไรก็แบ่งกลุ่ม ผู้ใช้จะเป็นชุมชนบำบัด ผู้เสพและผู้ติดจะเป็นหน้าที่ของมินิธัญญารักษ์และหอผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ตาม จะมีการประกาศคิกออฟให้สังคมรับรู้ว่า จะเอายาบ้ากี่เม็ดถึงเป็นผู้เสพและตีเป็นผู้ป่วย นั่นคือมุมของกฎหมาย แต่มุมสาธารณสุขอย่าไปสนใจว่ากี่เม็ด จะ 1 เม็ด 10 เม็ดก็คือผู้เสพและผู้ป่วย เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องดูแล ตอนนี้ให้ทีมพิจารณาเชิงวิชาการ มิติสังคม เชิงเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมาย กำลังทำกฎกระทรวงซึ่งเป็นหน้าที่ สธ.ต้องออก คือ จะอยู่ที่ 10 เม็ด โดยการครอบครองต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ มากกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้ค้า แต่นั่นเป็นมุมของผู้ปราบปราม
"ผมเรียน รมว.ยุติธรรม ว่าแม้จะ 1 เม็ด แต่มีพฤติกรรมขายก็ต้องเป็นผู้ค้า นั่นเป็นหน้าที่ของท่าน แต่ในมุม สธ.ไม่ว่ากี่เม็ดเราก็ดูแลหมด แม้เราจะเป็นผู้ประกาศกฎกระทรวง แต่ไม่ว่ากี่เม็ด จะ 1 เม็ด 2 เม็ด 11 12 หรือ 13 เม็ดก็เป็นหน้าที่เราต้องบำบัดรักษา" นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามถึงเหตุผลที่จะออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดเป็นผู้เสพ นพ.ชลน่านกล่าวว่า กฎหมายมอบให้เป็นหน้าที่ของ สธ.ออกกฎกระทรวงประกาศจำนวนเม็ดยาที่เข้าข่ายว่าเป็นผู้เสพแยกกับผู้ค้า เป็นมาตรการด้านกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับการดูแล เรากำลังให้คณะกรรมการของเราร่วมกับ ป.ป.ส.พิจารณาจำนวนเม็ด ซึ่งเสนอมาแล้วเหลือขั้นตอนการประกาศในกฎกระทรวง สรุปอยู่ที่ 10 เม็ด ซึ่งมีเหตุผลรองรับ เราใช้ทุกมิติ ทั้งการแพทย์ ฤทธิ์ของยาที่เกิดผลต่อผู้เสพ มิติด้านเศรษฐกิจ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และพฤติกรรมของผู้ค้า เอา 4 อย่างมารวมกัน พฤติกรรมผู้ค้าส่วนใหญ่จะทำแพคเกจจิ้ง 10 เม็ดในการค้า จึงเป็นเหตุผลรวม โดยเกิน 10 เม็ดทั่วไปถือว่าเป็นผู้ค้า ถ้าตัดน้อยกว่า 10 เม็ดเป็นผู้เสพ
ถามว่าการออกประกาศกฎกระทรวงจำนวนเม็ดยาจะอยู่ใน 100 วันควิกวินด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขั้นตอนการประกาศกฎกระทรวงไม่ได้ยุ่งยาก แต่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วเมื่อเป็นข้อตกลงยุติแล้ว ทางรัฐมนตรีก็ออกประกาศเป็นกฎกระทรวงได้ มั่นใจว่าเราจะทำได้ภายในปลายเดือนนี้หรือเดือน ธ.ค.
ถามย้ำว่ามีข้อกังวลหรือไม่ว่า การกำหนดอยู่ที่ 10 เม็ดเป็นผู้เสพ แต่จะมีการปรับมาขายต่ำกว่า 10 เม็ดมากขึ้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า 1 เม็ดถ้ามีพฤติกรรมของการค้าก็ถือว่าเป็นผู้ค้า ไม่ได้คุ้มครอง
- 2009 views