เผยผลวิจัยต่างประเทศ ขยายเวลาเปิดผับ เคสทำร้ายร่างกายเพิ่ม 13-22% อุบัติเหตุพุ่ง 34% ขสช.-ภาคีเครือข่าย วอนรัฐทบทวนนโยบายขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดเวทีระดมความคิดเห็นนักวิชาการและภาคประชาสังคม ต่อนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ตี 4 ณ ห้องแมนดาริน เอ โรงแรมแมนดาริน
นายธีรภัทร คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า นโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ต้องคิดให้รอบคอบว่า สร้างปัญหาใหม่หรือไม่ เพราะอาจเกิดเรื่องอุบัติเหตุมากขึ้น จากการพูดคุยในหลายเวที ก็มีความเห็นว่า การขยายเวลาไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้านผลกระทบการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ การศึกษาจากต่างประเทศ รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการ สถานบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตัวอย่างจากต่างประเทศพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายเวลาเปิดผับบาร์ เช่น
- รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย หรือรัฐออสเตรเลียตะวันตก - ข้อมูลระหว่างปี ค.ศ. 1991-1997 มีงานวิจัยจากโรงแรมที่ขอขยายเวลา 45 แห่ง เทียบกับโรงแรมที่ไม่ขอขยายเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 143 แห่ง พบว่า โรงแรมที่ขยายเวลามีเคสของการทำร้ายร่างกายสูงขึ้น รวมถึงมีอุบัติเหตุทางถนนที่สัมพันธ์กับการดื่มจากโรงแรมที่ขอขยายเวลาสูงกว่าด้วย
- ประเทศนอร์เวย์ - การขยายเวลาเปิดผับบาร์ขึ้น 1 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้น 16% เทียบกับการลดเวลาจำหน่ายลง 1 ชั่วโมง ส่งผลลดจำนวนการทำร้ายร่างกายลงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
- เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ - อนุญาตให้ผับบาร์ใน 2 โซน ขยายเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ.2019 การขยายเวลาจำหน่าย 1 ชั่วโมง เพิ่มจำนวนอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น 34% เมื่อเทียบกับโซนที่ไม่มีการขยายเวลา
"การขยายระยะเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ 1 ชั่วโมง สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของเคสทำร้ายร่างกาย 13-22% และยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ 34%" นายธีรภัทร กล่าว
ปี 2566 ผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ เพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน
ข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากฐานข้อมูล ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บพบว่า ปี 2566 ผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสริมว่า ภาพรวมสถานการณ์อุบัติเหตุดื่มแล้วขับช่วงเวลาปกติของปี 2566 แนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้มียอดรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว 50,164 ราย ในปี 2566 เพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับปี 2565 ทั้งปีที่มี 54,068 ราย โดยพิจารณาช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ คือ ช่วงเวลาที่มีการจำหน่ายตั้งแต่ 18.00 น. และหลังเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน หากขยายการขายเป็นตี 4 มีแนวโน้มที่อุบัติเหตุจะเพิ่มสูงตลอดทุกช่วงเวลา กระทบกับผู้ใช้ชีวิตปกติในช่วงกลางวันที่เป็นวัยทำงาน เด็กและเยาวชน
"เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการดูดซึม หากดื่มอย่างรวดเร็วใน 1 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากดื่มอย่างต่อเนื่อง ในชั่วโมงที่ 2 เป็นต้นไป ตับจะใช้เวลาดูดซึมยาวนานขึ้น ยิ่งดื่มมากขึ้น สะสมแอลกอฮอล์มากขึ้น จะมึนเมาจนขาดสติ ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น" นายธัชวุฒิ กล่าวและว่า จากการคาดการณ์อุบัติเหตุดื่มแล้วขับ เมื่อมีนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 อาจเกิดได้ 2 กรณี
- หากไม่มีการกวดขัน เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย มีโอกาสที่คนเมาแล้วขับทำให้เกิดเหตุได้เพิ่มถึง 27% หรือคาดประมาณผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ถึง 10-20 คนต่อวัน
- หากมีการกวดขัน เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เช่น ด่านตรวจเมาขับ เข้มงวดตลอดคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนถึงเช้า คาดว่าจะช่วยสกัดคนเมาแล้วขับได้เพิ่ม 30-50% และช่วยลดผลกระทบได้ 10 คนต่อวัน
นอกจากนี้ ข้อมูลรายงาน ศูนย์ถนน ช่วงสงกรานต์ 2566 พบว่าใช้กำลังพล ฝ่ายจราจร ฝ่ายสืบสวน และฝ่ายปราบปราม มากถึง 14,821 นาย มีจุดตรวจ 1,637 จุด เฉลี่ยจังหวัดละ 21 จุด โดยอัตรากำลังดังกล่าว เฉพาะในช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย หากมีการขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ในช่วงเวลาปกติ ต้องใช้อัตรากำลังเท่าไหร่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สคอ.ค้านธุรกิจน้ำเมาขยายเวลาเปิดผับตี4 ย้ำ!ฝ่ายการเมืองควรกำหนดมาตรการ
“วิชาญ มีนชัยนันท์” เผยรัฐยังไม่ได้กำหนดชัดเจนกรณีขายเหล้า 24 ชั่วโมง
“ชลน่าน” แสดงจุดยืนนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ ต้องไม่กระทบสุขภาพ ชั่งน้ำหนักให้ดี
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 179 views