คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศฯ ปรับนิยาม “วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก” ใหม่ ครอบคลุมทั้งยาเดิมและยากินตัวใหม่ ช่วยกักตัวรักษาใน รพ.ได้ทันที ให้กินยาจนครบโดส ป้องกันแพร่เชื้อดื้อยาต่อ จ่อปรับคัดกรองในเรือนจำมากขึ้น

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. .... ตามที่ที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยาระดับประเทศเห็นชอบ การปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อยู่แล้ว

โดยกรณีวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก  ซึ่งเป็นวัณโรคที่มีการดื้อยาหลายขนานร่วมกัน ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อาจจะดื้อต่อไอโซไนอะซิด (Isoniazid) ด้วยหรือไม่ก็ได้ และดื้อต่อกลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ได้แก่ ลีโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin) ม็อกซิฟล็อกซาซิน (Moxifloxacin) อย่างน้อยหนึ่งขนานและดื้อต่อยา เบดาควิลีน (Bedaquiline) หรือไลเนโซลิด (Linezolid) อย่างน้อยหนึ่งขนาน มีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือมีอาการตามอวัยวะที่ติดเชื้อ สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

“ได้ย้ำในที่ประชุมว่า แม้อุบัติการณ์วัณโรคจะลดลงจากในอดีตมากแล้ว แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กำหนดให้ยุติวัณโรค ภายในปี 2573 ซึ่งถ้าเราบริหารจัดการวัณโรคที่ยังพบผู้ป่วยปีละประมาณ 1 แสนรายได้ โดยร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง จะแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกคนในประเทศไทย โดยการปรับอาการสำคัญของวัณโรคดื้อยาหลายขนาดชนิดรุนแรงมาก จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย รักษา และควบคุมโรค ทำให้สูตรยารักษาถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญวัณโรคดื้อยา สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญ” นพ.ชลน่านกล่าว

ปรับนิยามวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง 

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เดิมวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงที่กำหนด คือ การดื้อยา 4 ขนาดร่วมกัน เป็นยากิน 3 ตัวและยาฉีด 1 ตัว ซึ่งปัจจุบันเราเลิกใช้ยาฉีดแล้ว และมีการปรับมาใช้ยากินตัวใหม่ ซึ่งก็มีความกังวลว่าหากมีการดื้อยาตัวใหม่ก็จะกลายเป็นเชื้อวัณโรคที่รักษายาก ดังนั้น จึงมีการปรับวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงให้ครอบคลุม ทั้งกลุ่มยาตัวเก่าและตัวใหม่ เพื่อหากพบจะถือว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย สามารถกักตัวเพื่อรักษา และควบคุมไม่ให้เชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาดชนิดรุนแรงนี้กระจายออกไป ทำให้คนอื่นป่วยวัณโรคดื้อยาไปด้วย ซึ่งการรักษาจะมีโปรโตคอลในการดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ใน รพ.เพื่อควบคุมและติตตามการรักษาให้กินยาจนครบโดส เพราะหากไม่กักตัวไว้รักษา เราจะไม่ทราบว่าผู้ป่วยกินยาครบหรือไม่ ซึ่งยิ่งกินยาไม่ครบก็ยิ่งทำให้เชื้อดื้อยา ส่วนใหญ่วัณโรคดื้อยารุนแรงก็จะอยู่ใน รพ. 30 วัน จนมั่นใจว่าเชื้อตาย ซึ่งเราจะให้กินยาอย่างสม่ำเสมอและอาจเสริมตัวอื่นเข้าไปเพื่อฆ่าเชื้อ

 

"ส่วนใหญ่เราเจอวัณโรคดื้อยาในประเทศไทยและบริเวณขอบชายแดน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่ระบบการรักษาอาจไม่ต่อเนื่องเพียงพอ ผู้ป่วยกินยาบ้างไม่กินยาบ้าง ทำให้เชื้อดื้อต่อยา ซึ่งการประกาศวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง ทำให้สามารถกักตัวผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มาจากต่างประเทศให้รักษาได้ ถ้าไม่ได้เป็นโรคอันตรายก็จะกักตัวให้รักษาไม่ได้" นพ.ธงชัยกล่าว

ปรับการจัดการปัญหาวัณโรคสอดคล้องตัวชี้วัด  SDGs

ถามว่าการปรับวัณโรคดื้อยาตรงนี้เพื่อให้สอดรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวัณโรคที่เรายังไม่ผ่านตัวชี้วัด SDGs ด้วยหรือไม่  นพ.ธงชัยกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าเราเจอเชื้อดื้อยาเยอะ โอกาสรักษาก็ลำบาก สิ่งสำคัญวันนี้ยังเจอผู้ป่วยวัณโรคปีหนึ่งเป็นแสนคน ถือว่าเยอะพอสมควร ต้องรีบรณรงค์ค้นหาในเรือนจำ ผู้ป่วยเอชไอวี เบาหวาน ความดัน เพราะวัณโรคไม่ใช่ได้เชื้อแล้วจะแสดงอาการทันที ไอเป็นเลือดเลย แต่อาจอยู่เป็นเดือนเป็นปีถึงแสดงอาการ ซึ่งรัฐบาลและ รมว.สาธารณสุขก็กระตุ้นในเรื่องนี้ที่ยังไม่ผ่านตัวชี้วด SDGs ทั้งนี้ เดิมเรามีการคัดกรองวัณโรคเยอะอยู่แล้ว แต่เราจะเพิ่มการคัดกรองและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมากยิ่งขึ้น อย่างในเรือนจำเราอาจจะตรวจคัดกรองถี่ขึ้น แทนที่ไปปีละหน ก็เป็นสองหน จัดระบบการตรวจมากขึ้น เมื่อก่อนตรวจเสมหะเอามาย้อมเชื้อ เราอาจจะเริ่มเอาเทคโนโลยีที่มีความเร็วมาใช้มากขึ้น เช่น เอกซเรย์เสร็จ สงสัยวัณโรคก็ทำ Gene Xpert หรือ TB-Lamp ในการตรวจแล้วรู้เลย ถ้าไปตรวจเสมหะขากเสลดมีแต่น้ำลาย ก็ตรวจไม่เจอ ทำให้ความไวต่ำ

"การตรวจเยอะขึ้นอาจเจอผู้ป่วยเยอะขึ้น จากที่ไม่เคยเจอถือว่าเป็นเรื่องดี จะได้มารักษาได้ ถ้าไม่เจอแล้วไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนก็จะควบคุมไม่ได้ ซึ่งการตรวจเจอเยอะขึ้น ไม่ใช่เพราะโรคเยอเะ แต่ความสามารถค้นหาและควบคุมได้ง่ายขึ้น ซึ่งยาและระบบการรักษาเรามีความเตรียมพร้อมรองรับ" นพ.ธงชัยกล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : คกก.โรคติดต่อฯ เดินหน้าแก้กฎหมายควบคุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ หลังบทเรียนโควิด19 ที่ผ่านมา)