ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เผยอยากให้สาธารณสุขอำเภอทำ Health Station ตำบลละ 1 แห่ง เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชน ประสานการทำงาน อสม. ในพื้นที่ ช่วงเปลี่ยนผ่านถ่ายโอนรพ.สต. ให้ประชาชนได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win (แผนปฏิบัติการเร่งรัด) ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” นายประพันธ์ ใยบุญมี ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวกับ Hfocus ถึงการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งล่าสุดนพ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอกลไกการ ทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนโดยจะเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ หรือ ก.ก.ถ. หนึ่งในนั้นมีเรื่องทำ Health Station นั้น

นายประพันธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ในเรื่องการถ่ายโอนเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็คงพ้นจุดนั้นไปแล้ว สิ่งสำคัญ เราต้องมาคิดและร่วมกันทำงานในระบบสุขภาพอำเภอ โดยการคิดรูปแบบการทำงานที่ตอบสนองให้ประชาชนไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ต้องมาคิดว่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

สำหรับการจัดทำ Health Station โดยใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยในการเก็บข้อมูลสุขภาพเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งข้อมูลสุขภาพระดับชุมชนไปถึงส่วนกลาง บางส่วนอาจยังไม่ตรงกัน แต่ Health Station เป็นการบริการที่สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน จะช่วยตอบโจทย์ตรงนี้  โดยการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่เก็บข้อมูลได้ดีที่สุด ด้วยการบริการวัดความดัน เจาะเลือดของประชาชน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ใส่ผ่านระบบส่งไปยังรพ. เพื่อให้ทราบการติดตามอาการของผู้ป่วย 

"เรามีสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขตำบล มีพัฒนากรอำเภอและตำบล ก็จะใช้กลไกพวกนี้ไปพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้มีความรู้ ช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งหน่วยบริการก็ยังทำงาน แต่อาจมีจุดศูนย์รวมในการช่วยเหลือผู้ป่วย Health Station ก็จะเชื่อมโยงทั้งฐานข้อมูลและงานบริการ ข้อดี คือ ประชาชนจะรู้ว่า ตัวเองมีสุขภาพอย่างไร โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล หากมี Health Station อยู่ในชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลหรือคลินิกแพทย์ ถ้าอยากวัดความดันก็ทำได้ เป็นรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีอยู่กับ อสม."

นายประพันธ์ เพิ่มเติมว่า การมี Health Station จะทำให้ข้อมูลสุขภาพจากงานบริการเบื้องต้น เช่น ค่าความดัน หรือข้อมูลการเจาะเลือด ถูกส่งไปที่โรงพยาบาล ทำให้มีฐานข้อมูลสุขภาพ เป็นการเชื่อมโยงทั้งฐานข้อมูลและงานบริการเข้าด้วยกัน โรงพยาบาลก็จัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชน เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลสุขภาพได้ ซึ่งก็มีบางส่วนที่ทำอยู่แล้ว จากนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขเคยนำร่องที่เขต 9 ภายหลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเรื่องนี้มา โดยมีงบประมาณที่สามารถนำไปใช้ได้ คือ เงินกองทุนตำบล 45 บาทต่อหัว Health Station บางจุดใช้เงินเพียง 2-3 หมื่นบาท ในการจัดซื้อเครื่องวัดความดัน เครื่องเจาะเลือด หรือเครื่องตรวจไขมัน   

ผู้สื่อข่าวถามว่า Health Station จำเป็นต้องจัดเป็นสถานที่อยู่ภายในชุมชนใช่หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า  Health Station จัดตั้งยังสถานที่ได้หลายแห่ง เช่น อําเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สามารถตั้งที่วัด ที่จังหวัดเพชรบุรี มีเกือบทุกอำเภอแล้ว จังหวัดลพบุรีก็ได้ทำ หรือจัดทำได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพราะสถานที่ราชการที่มีคนมามากมายควรมีข้อมูลสุขภาพให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถ้ามีปัญหาก็แก้ไขได้ด้วย หรือจัดทำภายในโรงงาน หมู่บ้าน ก็ใช้บ้าน อสม.ได้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในชุมชน โดย อสม.ก็ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาล ผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล 

"โดย Health Station ตอนนี้คิดว่า สาธารณสุขอำเภอ ต้องเปลี่ยนบทบาท ทำเรื่องนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน อยากให้สาธารณสุขอำเภอทำทุกตำบล ตำบลละ 1 แห่งก่อน หลังจากนั้นทำทุกหมู่บ้านก็ได้ ให้เชื่อมโยงเครือข่ายสุขภาพได้หมด ซึ่งปัจจุบันมี 878 อำเภอ ก็สามารถใช้เงินกองทุนได้" นายประพันธ์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ชลน่าน” จ่อเสนอ ก.ก.ถ. ขอมติกลไกทำงาน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ. (ชมคลิป)

"ชลน่าน"เพิ่ม 4 จังหวัด ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ข้ามเครือข่ายรัฐและเอกชน ร้านขายยา