สปสช. และกพย.ย้ำประชาชนตรวจเช็กยาความดัน ตรงกับยี่ห้อและล็อตผลิตที่ อย.เรียกคืนหรือไม่ หากตรงให้ส่งคืนยากลับคืน รพ.หรือร้านยาต้นทาง ขอเปลี่ยนยาใหม่ อย่าหยุดยาเอง หากมีอาการไม่พึงประสงค์ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร จี้ อย.ออกประกาศมาตรฐานให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เรียกยาลดความดันโลหิต"เออบีซาแทน" จำนวน 3 รุ่นการผลิต หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยาลดความดันโลหิตดังกล่าวรวม 42 รุ่นการผลิตจาก 5 ผู้ผลิต เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตมีการปนเปื้อนสาร AZBT ที่อาจก่อมะเร็ง ว่า สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยารักษาโรคความดันอยู่นั้นขอให้ตรวจสอบรายการยาว่าที่ตัวเองได้รับใบนั้นอยู่ในรายการที่ถูกอย.เรียกคืนหรือไม่ หากเป็นรายการยาเดียวกันขอให้นำยาตัวนั้น ไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ที่ท่านรับยาดังกล่าวมาเพื่อปรึกษาแพทย์และขอเปลี่ยนยาตัวใหม่
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่กังวลกับการเรียกคืนยาดังกล่าว แนะนำว่า เราต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้ก่อน โดยให้ตรวจสอบก่อนว่า ยาความดันที่ตนเองใช้อยู่ คือ ยี่ห้ออะไร รุ่นการผลิตอะไร โดยให้เช็กข้อมูลกับลิสต์ที่ อย.ประกาศออกมา หรือหากไม่มั่นใจก็ให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบดูได้ หากยาที่รับประทานอยู่ไม่ใช่ล็อตที่ถูกเรียกคืน ก็ไม่ต้องกังวลอะไร สามารถใช้ยานั้นต่อไปได้ แต่หากเป็นยาที่ถูกเรียกคืน ส่วนใหญ่การเรียกคืนมักจะแจ้งไปยัง รพ.หรือร้านยาที่จำหน่ายเรียกคืนกลับไป เพราะฉะนั้น หากเราได้รับยาล็อตที่มีการเรียกคืนจริงมาจาก รพ.หรือร้านยา ก็มีสิทธิที่จะไปคืนได้ และรับยาตัวใหม่
"การเปลี่ยนยานั้น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นยายี่ห้อเดียวกันที่เป็นคนละรุ่นการผลิต หรือหากไม่มั่นใจจริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนยี่ห้อ ซึ่งปัจจุบันยาความดันมีหลากหลาย การเปลี่ยนยี่ห้อยาก็ไม่น่าจะกระทบหรือมีปัญหาต่อการควบคุมความดัน แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้อง้ปลี่ยนไปใช้ยานอกหรือยาราคาแพงขึ้นแต่อย่าใด เพราะยาชื่อสามัญในประเทศหลายยี่ห้อ ก็มีการตรวจชีวสมมูลแล้ว คือ ยาดูดซึมเข้าสู่เลือดได้ปริมาณยาที่เข้มข้นถึงมาตรฐานตามที่กำหนด และผ่านการขึ้นทะเบียน อย.แล้ว อีกทั้งการรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็จะช่วยควบคุมสภาพความเข้มข้นของเลือดได้" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว
ยาลดความดันต้องกินทุกวัน
เมื่อถามถึงประชาชนที่หากรับประทานยาล็อตที่มีการปนเปื้อนจริง จะเกิดผลกระทบระยะสั้นหรือระยะยาว หรือต้องเฝ้าระวังอาการใดหรือไม่ ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า โดยทั่วไปสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบจะมีปริมาณไม่มาก เมื่อผลิตเป็นยาและเผลอกินเข้าไป ปริมาณที่รับก็จะไม่ได้มาก อย่างไรก็ตาม ที่กังวลคือยากลุ่มลดความดันนั้นต้องกินทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีญาติที่เป็นมะเร็ง ก็อาจไม่ต้องกังวลหรือตกใจจนเกินไป ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีความดันแกว่งหรือสูง ไม่ควรหยุดยาทันที ก็ให้ปรึกษาแพทย์ในการเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ รวมถึงหากมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว หากใช้ยาแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรได้ว่ามีอาการอะไร ถ้ามีอาการที่รุนแรงผิดปกติไป ก็จะมีการบันทึกส่งถึง อย. หรือประชาชนก็สามารถแจ้งผ่านอินเทอร์เน็ตถึง อย.ได้เช่นกัน เพื่อรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา
การกำหนดมาตรฐานกลุ่มสารอาจก่อมะเร็งมีมากขึ้นกว่าอดีต
ถามถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่าที่ผ่านมายากลุ่มลดความดันมีการบังคับตรวจสาร 3 ตัว แต่ไม่มี AZBT ที่เป็นสารอาจก่อมะเร็งมาก่อน ซึ่งการเรียกคืนครั้งนี้มาจากสารดังกล่าว ผศ.ภญ.นิยดากล่าวว่า สมัยก่อนมาตรฐานเกี่ยวกับกลุ่มสารอาจก่อมะเร็งพวกนี้ไม่ได้มีมากนัก เพิ่งมีมากขึ้นในระยะหลัง ที่เริ่มกังวลเจอตัวนั้นตัวนี้ ตอนขึ้นทะเบียนยาที่ผ่านมาก็อาจจะไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องตรวจ ซึ่งทางสหภาพยุโรป (อียู) หรือประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ เมื่อมีข้อกังวลในสารเหล่านี้มากขึ้น เขาก็เพิ่มการตรวจมากขึ้นแล้วประกาศออกมา ซึ่งก็มองได้สองมุม คือ ทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยและมั่นใจ เพราะลดปัจจัยเสี่ยงจากการปนเปื้อนลง แต่ในเชิงฝ่ายผลิตโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจไม่เคยตรวจ เมื่อมีการสั่งตรวจก็จะเพิ่มต้นทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตยาชื่อสามัญ
"การเรียกคืนยาจากการตรวจเจอสารดังกล่าวในครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่า อย.มีการประกาศเป็นมาตรฐานแล้วหรือไม่ ว่าให้ตรวจสารตัวนี้ก่อนมาขึ้นทะเบียนยา อย่างไรก็ตาม หากจะให้มีการตรวจสารตัวนี้เพิ่มขึ้น อย.ก็ต้องมาพิจารณาว่า ที่ผ่านมาการประกาศเพียง 3 ตัวเพียงพอหรือไม่ จะเพิ่มการตรวจกี่ตัว เพราะต้องยอมรับว่า การตรวจสารกลุ่มอาจก่อมะเร็งก็จะมีมาเรื่อยๆ หากต้องเพิ่มการตรวจ อย.ก็ต้องออกประกาศให้ชัดเจน ต้องแก้ไขทะเบียนเพิ่มประเด็นว่าให้มีการตรวจสารต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนมาขึ้นทะเบียน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าต่างประเทศเพิ่มเติมการตรวจสารต่างๆ แล้วเราจะเพิ่มเป็นมาตรฐานการตรวจได้ทันที ก็ต้องพิจารณาว่าแล็บของไทยตรวจได้แล้วหรือยัง" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว
สามารถคลิกดูรายชื่อยาลดความดัน 42 รุ่น ได้ดังนี้ **คลิกรายชื่อ
- 9333 views