ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยสาเหตุเพิ่มบริการเขตเมืองเชียงใหม่  เพราะมีแต่ รพ.ขั้นสูง แต่ขาด รพ.ระดับทุติยภูมิ เดินหน้าใช้พื้นที่ รพ.ประสาทเชียงใหม่  ลดปัญหาผู้ป่วยมีความแออัดใน รพ.ชุมชนพื้นที่ส่วนขยายของ รพ.นครพิงค์ เล็งจับมือร่วมกัน 2 แห่งเตรียมเปิดระบบผู้ป่วยนอก  1 พ.ย.นี้

 

เมื่อวันที่ 14  ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเดินหน้าตามนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัสของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของการเพิ่มบริการเขตเมือง ทั้ง รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. นำร่องเขตดอนเมือง และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า กรณี รพ.เขตดอนเมือง กทม. ค่อนข้างมีรายละเอียดมากๆ พอสมควร เพราะ กทม.เป็นพื้นที่ที่มีผู้เกี่ยวข้องเยอะ ซึ่งได้รับรายงานว่า มีการลงไปดูพื้นที่มาแล้ว 2-3 ครั้ง เราพยายามเลือกพื้นที่ที่ลงตัวกับประชาชน ตอบโจทย์ในเชิงการคมนาคมด้วย เพราะบางที่ที่พร้อมหรือทุกอย่างพร้อม แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงด้วยปัญหาการจราจรก็คงไม่ใช่ อีกเรื่องคือตอบโจทย์ความลงตัวในเชิงบริการที่จะเกิดขึ้น ต้องจัดการกับความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งความเป็นต้นสังกัดของแต่ละภาคส่วน การบริหารกลไกการทำงานและด้านงบประมาณ ซึ่ง กทม.อาจเป็นจุดท้าทายที่ต้องใช้เวลา และอาศัยความละเอียดพอสมควร ซึ่งทีมงานรายงานให้ทราบแล้ว แต่ต้องหาโอกาสไปในแต่ละจุดด้วยตนเองอีกครั้ง

ถามว่าเบื้องต้นจะประสาน รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) เปิดดูแลผู้ป่วยนอกก่อนเลยหรือไม่  พญ.อัมพรกล่าวว่า ก็มีความสนใจเช่นนั้น แต่ว่าเราต้องคำนึงถึงความพร้อมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเรายังไม่รู้ข้อกังวลหรือข้อจำกัดของภาคส่วนต่างๆ ก็ต้องมีการเรียนเชิญร่วมหารือกันก่อน ก็คงพยายามให้เป็นไปได้เร็ว

ขยายบริการพื้นที่เมืองเชียงใหม่ เปิดระบบผู้ป่วยนอก 1 พ.ย.

พญ.อัมพรกล่าวว่า ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นเมืองและยังขาด รพ.ระดับทุติยภูมิ คือ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพราะพื้นที่นี้เป็นศูนย์รวม รพ.ระดับตติยภูมิ ทั้ง รพ.นครพิงค์ รพ.สวนดอก รพ.ประสาทเชียงใหม่ แต่อำเภอรอบนอกเป็น รพ.ชุมชน แต่เราไม่มี รพ.จังหวัดที่เป็นแบบ รพ.จังหวัดอื่นๆ หรือ รพ.ที่เป็นระดับต่อเนื่องทุติยภูมิตรงนี้ไม่มี ก็จะมีความร่วมมือกัน โดยใช้ศักยภาพของกรมการแพทย์ คือ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็น รพ.ตติยภูมิขั้นสูงในเรื่องของระบบประสาท มีเรื่องการผ่าตัดในมิติสมองและระบบประสาท การดูแลเรื่องของปัญหาทางสมองขั้นสูง

อย่างไรก็ตาม เรายังมีศักยภาพในการขยายตัวออกมารองรับส่วนหนึ่งในเรื่องทุติยภูมิได้ ก็เป็นการแบ่งปันซึ่งเดิมผู้ป่วยมีความแออัดใน รพ.ชุมชนพื้นที่ส่วนขยายของ รพ.นครพิงค์ เราก็จะมาแบ่งปันบริการจากแพทย์ของ รพ.ประสาทเชียงใหม่ และ รพ.นครพิงค์มาสนับสนุนบริการ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้จำแนกว่าพื้นที่ตรงไหน ใครจะต้องทำอย่างเดียว แต่จะมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มอย่างน้อยที่สุดคือ เปิดระบบผู้ป่วยนอกวันที่ 1 พ.ย.นี้

ถามว่าต้องหาพื้นที่ขยายเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อเป็น รพ.ทุติยภูมิ นอกจากการใช้พื้นที่ รพ.ประสาทเชียงใหม่หรือไม่  พญ.อัมพรกล่าวว่า แผนระยะสั้นเรายังค่อนข้างมองพื้นที่ตรงนี้และคาดว่าจะเพียงพอ แต่ที่เพิ่มเติมอาจเป็นเรื่องบริการกลุ่มทุติยภูมิในสาขาอื่น ซึ่ง รพ.ประสาทเชียงใหม่อาจไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ได้มากนัก เช่น งานแม่และเด็ก ซึ่งศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ อาจจะเป็นจุดที่คณะทำงานมองเห็นว่าอาจช่วยบริการเรื่องนี้ต่อ จะได้ลดความแออัดที่ รพ.นครพิงค์ และทำให้ระบบคล่องตัวมากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง