กรมควบคุมโรคชี้แจงนโยบายดำเนินการตามเป้าหมายกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้หมดไปภายในปี 2573 พร้อมจัดอบรมแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ จนท.รพ.สต.คัดกรองโรคได้ ขณะที่สิทธิ์บัตรทองตรวจคัดกรองฟรี! รพ.รัฐทุกแห่งทุกระดับจนถึง รพ.สต. และศูนย์บริการสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโรคไวรัสตับอักเสบ ปีงบประมาณ 2567 โดยมีพญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมด้วยบุคลากรผู้รับผิดชอบงานด้านโรคไวรัสตับอักเสบ จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เข้าร่วมประชุม

กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้หมดไปภายในปี 2573

นพ.นิติ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และมีเป้าหมายที่จะกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้หมดไปภายในปี 2573 โดยการคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบในประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อนปี 2535 จำนวน 1 ล้านคน และการขับเคลื่อนโรคไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูกยังต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เข้าถึงการตรวจคัดกรอง เพื่อทราบสถานะการติดเชื้อ สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ สามารถเข้าถึงยา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสื่อสาร และรณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเรื่องโรคไวรัสตับอักเสบแก่ประชาชน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ

จัดอบรมแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ จนท.รพ.สต.คัดกรองตับอักเสบบีและซี

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้ดำเนินการอบรมแพทย์ อบรมนักเทคนิคการแพทย์ (ครู ก) และรวมถึงการจัดทำ E-learning สำหรับแพทย์ และสำหรับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้สามารถปฏิบัติงานคัดกรอง และรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ต่อไป

สิทธิ์บัตรทองตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซีฟรี!  

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ถูกบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนสามารถรับบริการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง จนถึงหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือศูนย์บริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย